สรุปข่าวเศรษฐกิจภาคเหนือ ไตรมาส 1 ปี 2567

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) โดย คุณพรวิภา ตั้งเจริญมั่นคง ผู้อำนวยการอาวุโส แถลงข่าว “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือ ไตรมาส 1/2567” สรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 1/2567 ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน รายละเอียดดังนี้

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีและช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมทั้งปีนี้หมอกควันมาช้า ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวได้ต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชาวต่างชาติ และทำให้การบริโภคขยายตัวเล็กน้อย จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคและหมวดบริการปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หมวดยานยนต์ปรับลดลงมาก รายได้เกษตรกรปรับลดลงจากผลกระทบของเอลนีโญทำให้ผลผลิตลดลง ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเล็กน้อย จากการผลิตหมวดเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนขยายตัว แต่การผลิตน้ำตาลลดลง ตามวัตถุดิบอ้อยที่เข้าโรงงาน และการผลิตอาหารแปรรูปลดลงหลังเร่งไปในช่วงก่อน

ตลาดแรงงานชะลอลง สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ขยายตัวชะลอลง แต่ยังสูงกว่าก่อนโควิด-19 การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการลงทุนเพื่อผลิตในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้น ตามการนำเข้าสินค้าทุนของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลงต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนก่อสร้างทรงตัว การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากราคาหมวดอาหารสดปรับลดลง ขณะที่ราคาหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือไตรมาส 2/2567 คาดว่าจะปรับดีขึ้นเล็กน้อย ตามการท่องเที่ยวที่ยังมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รายได้เกษตรกรคาดว่าปรับดีขึ้นจากด้านราคาตามอุปสงค์ที่มีต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกคาดว่าปรับดีขึ้น ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของการบริโภคยังคงมีปัจจัยกดดันจากสถานการณ์หมอกควัน และค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง


ธปท. ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน จึงกำหนดให้สถาบันการเงินต้องดูแลลูกหนี้ทั้งลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งก่อนเป็นหนี้เสีย (non-NPL) และหลังเป็นหนี้เสีย (NPL) รวมถึงคุ้มครองสิทธิ์ลูกหนี้ให้เป็นธรรม เช่น ห้ามคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนดสำหรับสินเชื่อรายย่อย ห้ามคิดค่าธรรมเนียมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และห้ามคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ย (ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค.67) สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน (บัตรกดเงินสด) ที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังจะได้รับการแจ้งเตือนจากเจ้าหนี้ เพื่อเสนอความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้นและลดภาระดอกเบี้ย ตั้งแต่ 1 เม.ย.67

ท่านสามารถติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือได้ที่ Link
https://www.bot.or.th/th/thai-economy/regional-economy/northern-economy/the-state-of-northern-economy/Northern_2567Q1_Press_All.html
https://www.bot.or.th/th/thai-economy/regional-economy/northern-economy/the-state-of-northern-economy.html

ร่วมแสดงความคิดเห็น