ไมโกะ และ เกอิชา ต่างกันอย่างไรในสังคมญี่ปุ่น?

ในเกียวโต หลายคนคงนึกถึงคำว่า “ไมโกะ” (舞妓) และคำว่า “เกอิชา”(芸者) หรือ เกโกะ (芸妓) พวกเธอทำหน้าที่มอบความบันเทิงทางด้วยศิลปะการแสดงให้กับแขก แล้ว “ไมโกะ” กับ “เกอิชา” ต่างกันอย่างไร? ไมโกะเปรียบเสมือนพริตตี้ในงานสังสรรค์หรือเปล่า? และเกอิชาคือนักดนตรีที่คอยบรรเลงเพลงในงานเลี้ยงนั้นใช่หรือไม่? วันนี้เราพาไปทำความรู้จักพวกเธอกัน!

ไมโกะ มักจะพบเห็นได้ตาม 5 สถานที่ที่เรียกชื่อรวม ๆ ว่า “โกะคาไง” (五花街) ในเมืองเกียวโต ประกอบไปด้วย เมืองปนโตะ-โจ (先斗町), คามิชิจิ-เค็น (上七軒), เมืองมิยางะว่า-โจ(宮川町), กิออน-โคบุ (祇園甲部), และ กิออน-ฮิกาชิ (祇園東) เป็นอาชีพของผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงศิลปะร้องรำทำเพลง มอบความบันเทิงให้กับผู้ใช้บริการ ชาวญี่ปุ่นในแถบคันโตจะเรียกกันว่า “ฮังเกียวคุ” (半玉) ซึ่งหมายถึง “ไมโกะ” เช่นเดียวกัน

ไมโกะ คือเด็กฝึกหัด ที่จะสามารถเข้าฝึกได้ตั้งแต่หลังเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมต้น ไปจนถึงช่วงก่อนอายุครบ 20 ปี นอกจากการร้องเพลง, ร่ายรำ และฝึกเล่นเครื่องดนตรีชามิเซ็นแล้ว พวกเธอยังจะต้องเรียนรู้เกี่1ยวกับการชงชา, การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น, มารยาทและวิธีการดูแลลูกค้า ไปจนถึงการเข้าใจในธรรมเนียมและประเพณีปฏิบัติดั้งเดิมของญี่ปุ่น หลังจากใช้เวลาเรียนรู้และฝึกฝนสิ่งต่าง ๆ ราว 5 ปี ไมโกะจะได้เลื่อนขั้นเป็น “เกอิชา” ในที่สุด

สรุปง่าย ๆ ก็คือ “ไมโกะ” คือเด็กฝึกหัดก่อนจะได้เป็น “เกอิชา” นั่นเอง

ส่วนเกอิชา คือ หญิงที่มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะ สร้างความบันเทิงให้กับแขกด้วยการร่ายรำ ขับร้อง เล่นดนตรี ไปจนถึงการปรนนิบัติบริการอย่างรินเหล้า เป็นต้น เอกลักษณ์ของเกอิชาคือการทาหน้าขาว ใส่ชุดกิโมโนหรูหราและทำผมอลังการ

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเกอิชาคืออาชีพขายบริการ แต่อันที่จริงแล้วเกอิชาไม่ใช่อาชีพอย่างว่า คำว่าเกอิชา (芸者) แปลตรงว่า “ศิลปิน” เกอิชาจึงถือเป็นศิลปินที่แสดงศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่นดั้งเดิม

เกอิชาคือคำเรียกในฝั่งคันโต ส่วนฝั่งคันไซจะเรียกว่า เกอิโกะ (Geiko) นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่าเกอิงิ ทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึงอาชีพเดียวกัน ในปัจจุบันยังมีหลายที่ที่มีเกอิชาตัวเป็นๆ ให้ได้ไปพบปะกันจริงๆ
เกอิชามีประวัติความเป็นมายาวนานย้อนไปถึงสมัยเอโดะ แรกเริ่มแล้วเกอิชาเป็นผู้ชาย มีหน้าที่ร้องเล่นเต้นรำสร้างความบันเทิง ต่อมาจึงกลายเป็นผู้หญิงอย่างทุกวันนี้

ในอดีต ผู้ที่มาเป็นเกอิชามีทั้งที่เป็นโดยสมัครใจและถูกซื้อตัวมา แต่ในปัจจุบัน คนที่มาเป็นเกอิชาคือผู้ที่สนใจและสมัครใจเป็นเอง

เกอิชามีหน้าที่สร้างสีสันในงานเลี้ยง โดยในส่วนของการแสดงนั้นจะแบ่งออกเป็นหน้าที่หลักๆ ดังนี้ทาจิคาตะ คือเกอิชาที่มีหน้าที่ร่ายรำจิคาตะ คือนักดนตรี มีหน้าที่ขับร้องและเล่นเครื่องดนตรี เช่น ชามิเซ็น ขลุ่ย กลองไทโกะโมจิ คือเกอิชาที่มีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นด้วยการเล่นตลกหรือการใช้คำพูดต่างๆ

เกอิชายังมีความสามารถด้านศิลปะอื่นๆ เช่น ชงชา จัดดอกไม้ เป็นต้น นอกจากศิลปะการแสดงแล้ว เกอิชายังมีหน้าที่สร้างความบันเทิงให้กับแขก ซึ่งมีทั้งการเล่นเกมและการพูดคุย เป็นต้น

เกอิชาไม่ได้มีหน้าที่ขายบริการด้วยร่างกาย ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องอย่างว่าเลย แต่ก็ขายศิลปะเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เกอิชาไม่ได้รับอนุญาตให้มีความรักหรือแต่งงาน แต่สามารถมีผู้อุปถัมป์หรือที่เรียกว่าดันนะได้

เกอิชาทาหน้าเป็นสีขาวเนื่องจากในสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้า จึงทาหน้าเป็นสีขาวเพื่อให้โดดเด่น ซึ่งก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เกอิชาแต่งหน้าค่อนข้างฉูดฉาด เขียนขอบตา ทาอายชาโดว์ และที่ขาดไม่ได้คือลิปสติกสีสด

ชุดของเกอิชาคือกิโมโน วิธีผูกโอบิจะต่างจากปกติคือจะห้อยยาวลงมาด้านหลัง สวมวิกขนาดใหญ่และติดเครื่องประดับผมสวยงามอลังการ สวมถุงเท้า เมื่อออกด้านนอกจะสวมเกี๊ยะ

มีย่านอยู่อาศัยของไมโกะและเกอิชาจะเรียกว่า ฮานามาจิ คือย่านที่เกอิชาและไมโกะอาศัยอยู่ และยังมีโรงน้ำชาซึ่งเป็นที่จัดงานเลี้ยงให้ได้พบกับเกอิชา โดยเกอิชามักไม่ทำงานนอกเขตของตัวเอง ฮานามาจิแปลว่าเมืองแห่งดอกไม้ แต่ละย่านจะมีชื่อเรียกของตัวเอง ย่านที่เป็นที่รู้จักดี เช่น ย่านกิอง เป็นต้น

ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 ที่ผ่านมา เกิดกระแสซีรีส์เรื่อง “แม่ครัวแห่งบ้านไมโกะ” (The Makanai : Cooking for the Maiko House)ที่นำเสนอวิถีชีวิตของไมโกะ ทั้งตั้งแต่เริ่มเป้นเด็กฝึก จนถึงระดับเกอิชาตลอดจนเมนูอาหาร และบรรยากาศฟีลญี่ปุ่น อบอุ่นหัวใจ


ซึ่งมีตัวละครดำเนินเรื่องอย่าง คิโยะ (รับบทโดย นานะ โมริ)และสุมิเระ(รับบทโดย นัตสึกิ เดกุจิ) ที่เป็นเพื่อนสมัยเด็กกันจากจังหวัดอาโอโมริ และได้ย้ายเข้ามาเมืองเกียวโตเพื่อมาเป็นไมโกะ ระหว่างการฝึกซูมิเระได้รับการชื่นชมในความสามารถและขยันหมั่นเพียร ส่วนคิโยะมีปัญหาการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานจึงถูกขอให้ออกไป แต่แล้วทักษะการทำอาหารของคิโยะก็ปรากฏให้เห็น จึงได้รับการจ้างในฐานะแม่ครัวคนใหม่แห่งบ้านไมโกะ คิโยะมีความสุขกับการทำหน้าที่นี้ที่ช่วยสนับสนุนซูมิเระและไมโกะคนอื่น ๆ ผ่านการทำอาหาร

The Makanai : Cooking for the Maiko House จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ทำให้ทุกคนประทับใจไปกับมิตรภาพความเป็นเพื่อนของเด็กหญิงทั้งสองผู้เดินทางจากบ้านมามาไกล เพื่อตามหาสิ่งที่รักบนเส้นทางชีวิตที่ตัวเองเลือก และสำหรับใครที่ชอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสาย Cooking หรือ Eating ก็ตาม จะต้องเพลิดเพลินไปกับซีนทำอาหารหน้าตาธรรมดาที่แทบจะส่งกลิ่นหอมผ่านจอให้ได้รู้สึกหิวและจินตนาการถึงรสชาติกันตลอดทั้งเรื่องเลยทีเดียว

อ้างอิง ข้อมูล ภาพประกอบ: gaku-sha,th.anngle,chillchilljapan,Netflix,urbancreature

ร่วมแสดงความคิดเห็น