แพทย์ทหาร ห่วงสุขภาพประชาชนช่วงหน้าฝน แนะดูแลสุขภาพ

แพทย์ทหาร “ห่วงสุขภาพประชาชนช่วงหน้าฝน แนะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันป่วยโรคไข้หวัดใหญ่”

จากข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 8 กันยายน 2565 มีรายงานผู้ป่วย 22,922 ราย เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดนครราชสีมา โดยในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วย 6,425 ราย ซึ่งผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือน ส.ค. 64 ผู้ป่วย 283 ราย) และกลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดในปีนี้ คือ เด็กแรกเกิด – 4 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 5-14 ปี และกลุ่มอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ที่จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 5 อันดับแรก ได้แก่ อุดรธานี นราธิวาส พะเยา พัทลุง และเชียงราย

เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝน มีฝนตกสลับอากาศร้อน ร่างกายอาจปรับตัวไม่ทัน ทำให้อาจเจ็บป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ได้ และโดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1. หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3. ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งรวมผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. โรคอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หากกลุ่มนี้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป

รวมทั้งช่วงนี้อาจพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 หลายคนลดความเคร่งในการสวมหน้ากากอนามัย และมีกิจกรรมที่มีคนรวมกันจำนวนมาก เช่น งานเลี้ยงทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกัน จึงทำให้โรคติดต่อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดหวัดใหญ่อาจกลับมาระบาดได้ นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้โรคโควิด-19 ลดลง คือ ในช่วงที่ผ่านมามีการระบาดของโรคโควิด-19 ในวงกว้าง ทำให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อและฉีดวัคซีนแล้วกว่า ร้อยละ 90 ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่เพิ่มขึ้น จึงเป็นสาเหตุที่พบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ลดลง ดังนั้น การเคร่งครัดมาตรการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการคัดกรอง เฝ้าระวัง และเข้ารับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยงจึงมีความสำคัญ จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนัก และการเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้”

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีความจำเป็นแม้ว่าจะฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกัน ประชาชนควรได้รับวัคซีนทั้ง 2 ตัว โดยสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่พร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ (แนะนำให้ฉีดที่แขนคนละข้าง) โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร มีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 รวมทั้งพี่น้องประชาชน และบุตร หลาน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังภัยสุขภาพดังกล่าว จึงขอเชิญชวนประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ที่ได้ที่โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ, สถานบริการสาธารณสุขของรัฐใกล้บ้าน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งได้รณรงค์ให้บริการฉีดวัคซีนฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคม 2565 และได้ขยายระยะเวลาการให้บริการวัคซีนสำหรับการเก็บตกในประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง จนถึง 30 กันยายน 65 นี้

คณะบรรณาธิการข่าว กองทัพภาคที่ 3
16 กันยายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น