เรื่องควรรู้ ก่อนเดินเข้าร้านเพชร

“เพชร” ถือเป็นราชาแห่งอัญมณีที่ทุกคนใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครอง เพราะคุณค่า ความงดงาม และหาได้ยาก จึงทำให้เพชรกลายเป็นสินค้าที่มีราคาสูง แต่ทุกคู่รักก็ยังปรารถนาจะได้แหวนเพชรเพื่อใช้เป็นตัวแทนที่สื่อถึงความรักที่แข็งแกร่งและมั่นคง ปัจจุบันการตัดสนใจเลือกซื้อแหวนเพชรซักวงคงไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีร้านเพชรอยู่มากมาย แต่การจะได้เพชรคุณภาพดีที่สำคัญต้อง “เพชรแท้” นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ วันนี้เราจะมาดูหลักเกณฑ์ที่ใช้เลือกเพชรให้เหมาะสมกับตัวเรากันค่ะ 

การเลือกร้านเพชรด้วยหลัก 4 C

หลัก 4 C ถูกคิดค้นขึ้นโดยสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือ GIA (Gemological Institute of America) ซึ่งสถาบันดังกล่าวถือว่าได้รับความเชื่อถือในการรับรองคุณภาพเพชรอันดับต้น ๆ ของโลก หลักในการเลือกเพชรขั้นพื้นฐานนี้มี 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ Carat,Color,Clarity,Cut ซึ่งต้องบอกเลยว่าสำคัญเท่ากันหมดทั้ง 4 ข้อ ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปมีผลต่อคุณภาพและราคาเพชรทันที 

1. Carat (กะรัต) 

Carat หรือ กะรัต คือ น้ำหนักของเพชรแต่ละชิ้น ในบางครั้งเราจะเห็นการใช้ตัวย่อ ct. แทนคำว่า Carat ก็ได้ ซึ่งเพชรน้ำหนัก 1 กะรัตเท่ากับ 0.2 กรัม แต่คนไทยมักเรียกน้ำหนักเพชรเป็นสตางค์ ที่เรามักคุ้นหูว่า “ตังค์” โดย 1 กะรัต เท่ากับ 100 ตังค์  สมมติถ้าเพชรหนัก 40 ตังค์ ก็จะเท่ากับ 0.40 กะรัตนั่นเอง คงปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็อยากได้เพชรเม็ดใหญ่เห็นชัดๆ มาทำหัวแหวนกันทั้งนั้น ติดปัญหาอย่างเดียว คือเพชรเม็ดใหญ่ก็จะมีราคาแพง การจะเลือกเพชรให้เหมาะสมจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องน้ำหนักของเพชรด้วย ซึ่งราคาของเพชรจะขึ้นอยู่กับความหายาก มากกว่าอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น เช่น เพชรเม็ดเดียวน้ำหนัก 3 กะรัตจะมีราคาแพงกว่าเพชรเม็ดละ 1.5 กะรัต รวมกันสองเม็ด 

2. Color (สี)  

สีของเพชรหรือคนไทยมักเรียกว่า “น้ำเพชร” เป็นตัวบอกคุณภาพและราคาของเพชรแต่ละเม็ด ยิ่งเพชรมีความใสมากเท่าไรก็จะมีราคาสูงขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันการจัดแบ่งเกรดสีเพชรแบ่งตามมาตรฐานของ GIA ซึ่งแบ่งได้ตั้งแต่ D-Z แต่ที่จะแนะนำสำหรับคนที่ต้องการเพชรคุณภาพสูงสุด อยู่ในกลุ่ม D-I

D คือ เพชรที่มีความใสที่สุดไม่มีสีอื่นเจือปน คนไทยเรียกว่า เพชรน้ำ 100 

E คือ เพชรที่มีความใสรองลงมา คนไทยเรียกว่า เพชรน้ำ 99 

F คือ เพชรที่มีความใสรองลงมา คนไทยเรียกว่า เพชรน้ำ 98 

ถ้าเราอยากได้เพชรที่ดีที่สุด ต้องเลือกเพชรน้ำ 100 หรือ D Color  แต่หากเรามีงบประมาณที่จำกัดต้องการประหยัดงบประมาณ แนะนำให้เลือกกลุ่ม G-J ซึ่งน้ำเพชรจะอยู่ที่ระดับ 97-94 แม้ความใสจะน้อยกว่ากลุ่ม D-F แต่ราคาจะสบายกระเป๋ากว่า ส่วนกลุ่ม K-Z จะเป็นเพชรที่มีสีค่อนข้างออกไปทางเหลืองมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะสำหรับทำแหวนแต่งงาน

3. Clarity (ความสะอาด) 

เพชรที่มีคุณภาพดีต้องมีความสะอาด คือ มีตำหนิภายใน (inclusion) และ ตำหนิภายนอก หรือ มลทิน (blemish) น้อยที่สุด โดยการจัดลำดับความสะอาดของเพชรตามมาตรฐาน GIA แบ่งเป็น 6 ประเภท 11 ลำดับ แต่จะขอแนะนำเพียง 4 ประเภท 6 ลำดับที่มีคุณภาพเหมาะสมใช้ทำแหวนเพชรได้ (เมื่อมองจากกล้องกำลังขยาย 10 เท่า) มีดังนี้ 

  • Flawless (FL) ไม่มีตำหนิทั้งภายนอกและภายใน  
  • Internally Flawless (IF) ไม่มีตำหนิภายใน แต่ภายนอกอาจมีตำหนิจากการเจียรไน 
  • Very, Very Slightly Included (VVS1-VVS2) มีรอยตำหนิภายในเล็กน้อย ซึ่งแทบมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรือสังเกตได้ยากมาก ต้องใช้กล้องขยายส่องเท่านั้น 
  • Very Slightly Included (VS1-VS2) มีรอยตำหนิเล็กน้อย ซึ่งสังเกตได้ยากหรืออาจมองเห็นได้บ้างด้วยกล้องขยาย  

4. Cut (เจียระไน) 

การเจียระไนเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การเจียระไนทำให้เพชรหักเหแสงแล้วเกิดเป็นประกายระยิบระยับ  ซึ่ง GIA จัดเกรดคุณภาพการเจียระไนออกเป็น 5 เกรด ได้แก่ Excellent, Very Good, Good, Fair และ Poor ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ ขอแนะนำเลยว่าให้เลือกระดับ Excellent เพราะจะได้เพชรคุณภาพดี เพราะเพชรที่ได้จะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ได้รับการเจียระไนให้ดีที่สุดก็แทบจะหมดราคาเลยทีเดียว แต่ถ้ามีงบประมาณไม่พอขั้นต่ำสุดก็ควรจะเป็นระดับ Very Good  ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมสำหรับผู้ที่ต้องการเพชรดีมีคุณภาพ ควรเลือกซื้อเฉพาะเพชรที่มีใบตรวจสอบคุณภาพและรับรองคุณภาพว่าเป็นเพชรแท้ 

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้เราสามารถเปรียบเทียบความสวยของเพชรได้ที่ Hearts & Arrows ซึ่ง Hearts & Arrows ที่สมส่วนจะทำให้เพชรยิ่งมีประกายวิบวับออกมานั่นเอง 

และทั้งหมดนั้นคือข้อควรรู้ที่คนอยากจะซื้อแหวนเพชร ควรทำการบ้านก่อนเข้าร้านเพชร นอกจากนี้การเลือกซื้อเพชรจากร้านที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่ทำให้การเลือกซื้อแหวนเพชรของเราง่ายขึ้น หรืออ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://anantajewelry.com/about-us 

ร่วมแสดงความคิดเห็น