เตรียมตัว! กสพท. เปิดรับนักศึกษาแพทย์ 2.3 พันคน 

นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) พญ.นันทนา ศิริทรัพย์ เลขาฯ กสพท นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบสอบ TCAS 65 ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรง ปีการศึกษา 2566 ของ กสพท.

โดย นพ.สรนิต กล่าวว่า กสพท จะมีการประกาศ กสพท ฉบับที่ 1 เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษา หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2566 ของ กสพท และประกาศ กสพท ฉบับที่ 2 เรื่อง หลักเกณฑ์การสมัครและสอบ TPAT 1 (วิชาเฉพาะ กสพท) ของกลุ่ม กสพท ปีการศึกษา 2566 โดยในประกาศฉบับแรกจะมีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกฯ เช่น ผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง มีความละเอียดรอบคอบ ชื่อสัตย์สุจริต ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสอบ การสอบข้อเขียน การสัมภาษณ์ และตรวจสุขภาพ และเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรหรือกำลังศึกษาชั้นปีสุดท้ายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และคาดว่าจะจบการศึกษาก่อนเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566 สำหรับผู้ที่สมัครหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ต้องสำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาในสายวิทยาศาสตร์หรือเทียบเท่าเท่านั้น เป็นต้น ทั้งนี้ยังได้มีการกำหนดขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตร สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2566 ของ กสพท คือ เริ่มรับสมัครสอบ TPAT 1 (วิชาเฉพาะ กสพท) ในวันที่ 1-20 กันยายน 2565 ซึ่งผู้สมัครจะต้องชำระเงินค่าสมัครภายในวันที่ 23 กันยายน 2565 โดยจะมีการการสอบวันที่ 17 ธันวาคม สอบครึ่งวัน และจะประกาศผลในช่วงประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้เกณฑ์ในการคัดเลือกเข้าศึกษาฯ ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามที่ กสพท กำหนด และเข้าสอบวิชาสามัญที่จัดสอบ โดย ทปอ. และวิชาเฉพาะที่จัดสอบโดย กสพท ได้แก่ A-Level (9 วิชาสามัญ) ร้อยละ 70 คะแนนและ TPAT 1 (วิชาเฉพาะ กสพท) ร้อยละ 30

ด้านนายชาลี กล่าวว่า สำหรับการเลื่อนสอบ กสพท ปีนี้ที่มีการขยับการสอบให้เร็วขึ้นจากเดิมที่มีการจัดสอบในช่วงเดือนมีนาคม หลังจากจบภาคเรียนที่ 2 ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่ง ทปอ. มองว่า การจัดการสอบหลายวิชาในช่วงเวลาสั้นๆ จะเป็นการทำให้ผู้เข้าสอบรับภาระมากเกินไป จึงเลื่อนการสอบ TPAT 1 ซึ่งเป็นการสอบในรูปแบบความถนัดเชิงวิชาชีพ กลุ่มนี้ถือเป็นทักษะของผู้สมัครที่พัฒนามาแล้วตั้งแต่ระดับ ม.4 และ 5 รวมถึงไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับหลักสูตรในระดับ ม.6 และที่ผ่านมาการจัดสอบในช่วงเดือนมีนาคมมีการจัดสอบทุกวิชา ทำให้เป็นภาระอย่างมากกับผู้เข้าสอบ ดังนั้นเราจะเลื่อนการสอบเพื่อเป็นการลดภาระให้แก่ผู้เข้าสอบไม่ต้องเครียดมากเกินไป

ในการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิตหลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านระบบรับตรง ปีการศึกษา 2566 ของ กสพท มีสถาบัน/สาขาวิชาเข้าร่วม ดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) 20 คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 176 คน จุฬาฯ-กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ 30 คน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 28 คน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) 65 คน มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) 30 คน โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) 94 คน ศิริราชพยาบาล มม. 192 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลราชวิถี) 40 คนวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลเลิดสิน) 13 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี) 13 คนมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) 145 คน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) 40 คน วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (นมร.) 50 คน วชิรพยาบาล-โรงพยาบาลตากสิน สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร 20 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพศชาย 60 คน วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า เพศหญิง 40 คน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 12 คน มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) 32 คน สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) 16 คน มหาวิทยาลัยสยาม 15 คน มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น 10 คน.

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 60 คน มม. 80 คน มช. 15 คน ม.อ. 10 คน มศว 40 คน มข. 15 คน มธ. 30 คน มน. 40 คน มทส. 10 คน มหาวิทยาลัยเนชั่น 15 คน มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น 15คน ม.รังสิต 60 คน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 105 คน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) 35 คน มข. 12 คน มช. 20 คน มม. 35 คน มม.-วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 10 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร 10 คนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) 10 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ตะวันออก 20 คน มทร.ศรีวิชัย 10 คน ม.อ. 10 คน มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น 10 คน

คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ(สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 75 คน จุฬาฯ (สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ ) 85 คน มม. 90 คน มช. 75 คน มศว (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 20 คน มศว (สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ) 20 คน มธ. 30 คน มมส. (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 10 คน มบ. 10 คน มหาวิทยาลัยสยาม (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 20 คน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 15 คน มหาวิทยาลัยพายัพ (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 10 คนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (สาขาวิชาการบริบาลทางเภสัชกรรม) 10 คน ม.อ. (สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหกรรม) 10 คน ม.อ. (สาขาวิชาบริบาลทางเภสัชกรรม) 10 คน รวมรับทั้งสิ้น 2,308 คน

ร่วมแสดงความคิดเห็น