เชียงใหม่จัดเวิร์คช็อป อนุรักษ์เมืองเก่า ออกแบบพื้นที่ประตูช้างเผือก

วันที่ 20 ธันวาคม ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ได้มีการจัดงานเสวนาโครงการอบรมการอนุรักษ์และการพัฒนาเมืองเก่า Chiang Mai City of Happiness Workshop Forum : CMCH 2024 ภายใต้ธีม “ผ่อหัว-ผ่อท้าย-ผ่อใต้-ผ่อเหนือ (BEW(H)ERE) การออกแบบพื้นที่บริเวณประตูช้างเผือกและส่วนเชื่อมต่อ” ซึ่งภายในงานนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการผลักดันโครงการ โดยมีนักศึกษาจาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำของจังหวัด และเครือข่ายภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานเวิร์คช็อปครั้งนี้ 

สำหรับงานเสวนา เริ่มต้นด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “การอนุรักษ์และออกแบบชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” โดย prof.Dr.Mishima Noburo รองประธานฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซางะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของการอนุรักษ์เมืองเก่า ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมือง จนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัล Asian townscape Awards จากองค์การยูเนสโก้

ตามมาด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “การออกแบบบนความเป็นไปได้ใหม่” โดยคุณพัชรดา อินแปลง จากบริษัท Sher Maker โดยคุณพัชรดาได้กล่าวถึง การออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานจากอาคารหรือสิ่งก่อสร้างเดิม พร้อมทั้งการค้นหาวัตถุดิบและรากเหง้าที่มีอยู่ในพื้นที่ เพื่อนำมาต่อยอดงานออกแบบ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ๆมีอาคารสำนักงานที่สร้างมาจากสถาปัตยกรรมเดิม เป็นจำนวนมาก

ปิดท้ายด้วยการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประตูช้างเผือก การขุดค้นทางโบราณคดี และการเชื่อมต่อการอนุรักษ์ สถาปัตยกรรมกับเมืองและการพัฒนาในอนาคต” โดยคุณสายกลาว จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ กลุ่มโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ซึ่งได้เล่าประวัติความเป็นมาของประตูช้างเผือก หนึ่งในประตูเมืองที่สำคัญของเชียงใหม่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการขุดสำรวจและเตรียมการบูรณะซ่อมแซม หลังจากที่พังถล่มลงมาเมื่อปี พ.ศ. 2565

ภายหลังจากงานเสวนาเสร็จสิ้นลง ได้มีการลงพื้นที่สำรวจประตูช้างเผือก และสัมภาษณ์ผู้นำชุนและการใช้พื้นที่หัวเวียง อนุสาวรีย์ช้างเผือก และตลาดช้างเผือก เพื่อให้กลุ่มนักศึกษา ได้นำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปที่จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 

ร่วมแสดงความคิดเห็น