กลุ่มสูงวัยเดือดร้อน สังคมไร้เงินสด ต้องเร่งปรับตัว

ตู้กดเงินลด กลุ่มสูงวัยเดือดร้อน แบ๊งค์ยันสังคมไร้เงินสด ต้องเร่งปรับตัว

นายวิทวัส จรัญศักดิ์ อาชีพเซลล์แมน เปิดเผยว่า จากการตระเวณเสนอขายสินค้าร้านโชห่วย ในพื้นที่ต่างจังหวัดและเชียงใหม่ พบว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เดือดร้อนจากปัญหาตู้กดเงินหรือ ตู้เอทีเอ็ม.ที่ลดน้อยลง เพราะส่วนใหญ่กลุ่มนี้ จะไปกดเงินตามตู้หน้าร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน หรือ ในสถานีบริการน้ำมันแต่ระยะหลังๆ จำนวนตู้เอทีเอ็ม ของแบ๊งค์หลายแห่งลดหายไป เข้าใจว่าน่าจะเป็นการลดต้นทุนของแบ๊งค์ ที่ผู้คนส่วนหนึ่งหันไปใช้จ่ายผ่านโมบายแบ๊งค์กิ้งกันมากขึ้น จะใช้จ่ายก็โอนผ่านมือถือ กดพร้อมเพย์ สแกนคิวอาร์โค้ดกัน ผู้สื่อข่าวสอบถามประชาชน ที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าย่านกาดหลวง (ตลาดวโรรส เชียงใหม่ ) ทราบว่า มีธนาคารหลักๆ ที่เคยเปิดสาขา และมีตู้กดเงินทยอยหายไป เช่น บริเวณใกล้ร้านสะดวกซื้อ ใกล้ร้านขายผ้า ที่ปิดสาขาและไม่มีตู้กดเงินแล้ว

นอกจากนั้นยังพบว่า บางร้านค้า ติดป้ายรับเงินสดเท่านั้น ในการจำหน่ายสินค้า ในขณะที่ผู้ประกอบการส่วนหนึ่ง ก็รับโอนเงินค่าสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ค้าของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง รายหนึ่งในกาดหลวง เชียงใหม่ เล่าว่า ยุคนี้ต้องปรับตัวกันมาก เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาซื้อของ โอนเงินผ่านมือถือกัน วันๆ แทบจะได้เงินสดน้อยมาก เช่นเดียวกับผู้ค้ากาดนัดคาวบอย ม.แม่โจ้ กล่าวว่า บรรดาน้องๆนักศึกษา โอนเงินเวลาซื้อของผ่านมือถือเป็นส่วนใหญ่เกือบ 90 % หากร้านค้าที่ไม่สะดวกในการรับโอน ก็อาศัยโอนเงินผ่านพรรคพวกที่ค้าขายใกล้กันแล้วจ่ายเงินสดให้ ตามราคาค่าของ ก็ต้องช่วยๆ กันไป “เพราะ สังคมไร้เงินสด ในกลุ่มที่มีอายุมากๆ ยังต้องดิ้นรนทำมาหากิน อาจไม่สะดวกที่จะทำแบบนั้น ซึ่งก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวกัน ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่แบ๊งค์ ที่มาเดินตลาดส่งเสริม ธุรกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มีการให้ความรู้ ในการซื้อขายผ่านพร้อมเพย์ และจำนวนตู้เอทีเอ็ม ในย่านนี้ตามร้านสะดวกซื้อ สถานีบริการน้ำมันแทบจะหายหมด จะเหลือตู้กดเงินหน้าสาขาหลักๆ เท่านั้น และหลายๆ แบ๊งคก็เป็นพันธมิตรกัน ในรูปแบบใช้ตู้กดเงินร่วมกัน ฟรีค่าธรรมเนียม

“ทั้งนี้อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.แม่โจ้ กล่าวว่า จากการติดตามศึกษาข้อมูล การใช้จ่าย ผ่านสังคมไร้เงินสด มีข้อมูลที่น่าสนใจว่ากลุ่ม เจน วายหรือ น้องๆ นักเรียนนักศึกษา คนรุ่นหนุ่มสาวนั้น ทำธุรกรรมบนโมบายแอป ไม่นิยมทำบัตรกดเงินกันแล้ว ที่ทำกันก็ช่วงทำเรื่องตามระเบียบมหาวิทยาลัยที่ต้องมีบัญชีเงินฝาก มีการกู้ยืมเรียนที่ต้องรับโอนเงินผ่านบุ๊คแบ๊งค์ แล้วก็อาจพ่วงทำบัตรเอทีเอ็ม.บ้าง เท่าที่ทราบจากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวนบัตรเอทีเอ็มโดยรวมทั้งระบบ ลดลงต่อเนื่อง ปี 62-63 มีตัวเลข 60 กว่าล้านใบ ลดไปเกือบ 8-9 แสนใบ ซึ่งแน่นอน ย่อมส่งผลต่อค่าธรรมเนียมแบ๊งค์ที่ลดลง เนื่องจากลูกค้าหันไปใช้ช่องทางโมบายแบงกิ้งมากขึ้น ธนาคารไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียม บรรดาร้านค้าก็จะมีพร้อมเพย์กันทั้งนั้น

ด้านศูนย์วิจัยธนาคารดังแถวหน้าของประเทศ ระบุว่า จำนวนตู้เอทีเอ็มและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์มี 57,554 เครื่อง และตั้งแต่ปี 2560 มีจำนวนลดลงสูงต่อเนื่อง ทั้งจากผลกระทบที่ลูกค้า หันไปใช้โมบายแบ๊งค์กิ้ง แต่ต้องยอมรับว่า สังคมชาวบ้าน ส่วนหนึ่งในต่างจังหวัด ในชนบทยังใช้เงินสด”การปรับตัว เปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมไร้เงินสด มีอัตราก้าวหน้าสูงมาก และร้านค้า ผู้ประกอบการ ตั้งแต่ร้านในพื้นที่ชายขอบที่อินเตอร์เข้าถึง มาสู่เมืองทันสมัย ต้องเรียนรู้ การใช้โมบายแบ๊งค์กิ้ง ก้าวทันนวัตกรรมความทันสมัยเหล่านี้ แต่ก็น่าเห็นใจบางกลุ่ม ที่ต้องตระเวณหาตู้กดเงินสด หรือต้องไปทำธุรกรรม ทางการเงินตามสาขา ที่มีน้อย มีจำนวนผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก ซึ่งแต่ละแบ๊งค์ก็ไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น เพราะสาขาที่ลดหายไป มีการพัฒนาเทคโนโลยี ธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ก้าวทันยุคสมัยกันขนานใหญ่ ใช้งบประมาณมหาศาล ก้าวสู่ยุคไอที.ที่ผู้บริการตามเคาน์เตอร์ แทบจะไม่มีแล้ว ขนาดจ่ายบิลค่าบริการต่างๆ ผ่านแอพ ผ่านสมาร์ทโฟนกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว”

ร่วมแสดงความคิดเห็น