จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าโครงการเพิ่มทักษะอาชีพ ให้เด็กนักเรียนฯ

จังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้าโครงการเพิ่มทักษะอาชีพ ให้เด็กนักเรียนที่ไม่ได้ศึกษาต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับ ปีงบประมาณ พ.ศ.2567

วันที่ 25 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะอาชีพนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมี นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกเตรียมเข้าทำงาน ให้แก่นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 20 คน ใน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร ผู้ประกอบอาหารไทย จำนวน 17 คน และหลักสูตรช่างเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก จำนวน 3 คน ณ ห้องประชุม 911 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่

ซึ่งโครงการเพิ่มทักษะอาชีพนักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อ หลังจบการศึกษาภาคบังคับนี้ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ (ม.3 หรือ ม.6) ที่ไม่ได้เรียนต่อ และมีอายุตั้งแต่ 15 – 25 ปี โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ เป็นเลขานุการและคณะกรรมการฯ จับมือบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัดกว่า 20 หน่วยงาน ในการสนับสนุนงบประมาณ ทรัพยากร การถ่ายทอดองค์ความรู้ เพิ่มทักษะด้านอาชีพให้เด็กนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้

ดำเนินการฝึกระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 30 กรกฎาคม 2567 ระยะเวลาฝึก รวม 420 ชั่วโมง (3 เดือน) โดยจะแบ่งการฝึกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรก ฝึกภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ จำนวน 2 เดือน ช่วงที่ 2 ฝากฝึกในสถานประกอบกิจการ จำนวน 1 เดือน โดยในระหว่างการฝึก นอกจากจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนฝึก ยังฟรีค่าอาหารและที่พักในหอพักของสถาบันพัฒนฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ หลังจากสำเร็จการฝึกจะได้วุฒิบัตรรับรองจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 19 เชียงใหม่ ผู้รับการฝึกยังจะได้รับสวัสดิการต่าง ๆ จากหน่วยงานบูรณาการร่วม ได้แก่ จะได้รับเงินชดเชยรายได้ให้กับครอบครัวระหว่างการฝึก จากหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการให้ความช่วยเหลือตำแหน่งงานรองรับ จากการจัดหาของหน่วยงานจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ หลังจากสำเร็จการฝึกจะได้มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดการเลื่อมล้ำในสังคม

ร่วมแสดงความคิดเห็น