กรมอนามัย ย้ำศูนย์อนามัยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่-ประชาชน อย่างทั่วถึง

กรมอนามัย เผย เหนือ-อีสาน ยังคงมีน้ำท่วม ย้ำศูนย์อนามัยช่วยเหลือเจ้าหน้าที่-ประชาชน อย่างทั่วถึง

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพื้นที่ในความรับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วม และพบเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ประสบภัยด้วย เร่งให้ศูนย์อนามัยลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนและดูแลเจ้าหน้าที่ที่ประสบภัยอย่างทั่วถึง เพื่อดูแลสุขภาพ
​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการที่กรมอนามัยได้จัดตั้ง
ศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรณีอุทกภัย หรือ EOC กรมอนามัย ขึ้น รวมทั้งได้สั่งการ ศูนย์อนามัยลงพื้นที่ช่วยประชาชน ด้วยการมอบชุดสนับสนุนการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ DOH Hygiene Package จำนวน 12,000 ชุด ให้กับครอบครัวผู้ประสบภัย และศูนย์พักพิง รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากยังพบว่าในหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วม ทั้งแบบท่วมขัง ท่วมสูง จึงสั่งการให้แต่ละศูนย์อนามัยทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เร่งให้การช่วยเหลือทั้งเจ้าหน้าที่ประสบภัย และประชาชนด่วน เบื้องต้นศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์ปฐมพยาบาลประชาชนจากอุทกภัยเพื่อบริการประชาชน 24 ชั่วโมงแล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับศูนย์อนามัย และศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ พบเป็นพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จึงให้เร่งขนย้ายวัสดุ อุปกรณ์ขึ้นที่สูง ให้การสนับสนุนทั้งด้านที่พักอาศัย รถรับส่งทีมเจ้าหน้าที่ที่ประสบภัย และให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา และศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชานี มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมหลายจังหวัดและระยะเวลานาน ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากกว่า 87,088 ครัวเรือน จึงมอบหมายศูนย์อนามัยดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ เพื่อประเมิน ผลกระทบทางสุขภาพประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เบื้องต้นพบผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ ในบ้านตนเองด้วยความยากลำบาก จึงจัดตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วมอบสิ่งของสนับสนุน รวมทั้งให้ความรู้ในการดูแลตนเองป้องกันอันตรายจากน้ำท่วม พร้อมจัดตั้งคณะทำงานระบบบัญชาการเหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุข ประจำศูนย์อนามัย เข้าตรวจคุณภาพน้ำดื่ม น้ำใช้ ในศูนย์พักพิง เพื่อให้ประชาชนในศูนย์พักพิงได้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ ที่สะอาด ปลอดภัย ตลอดจนดูแลเจ้าหน้าที่ของศูนย์อนาม้ยที่เป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน

“ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม กรณีอุทกภัย หรือ EOC กรมอนามัย ยังคงดำเนินการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลง เพื่อเป็นการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชน ตลอดจนเฝ้าระวังความสะอาดทั้งด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันโรคและสุขภาพของประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น