มท.1 เป็นประธานเปิดงานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน

มท.1 เป็นประธานเปิดงานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน และวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล

วันนี้ (20 ต.ค.65) เวลา 08.00 น. ที่โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (Commemoration of ASEAN Day for Disaster Management) และวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction) ประจำปี 2565 โดยมีรัฐมนตรีอาเซียน ผู้แทนประเทศอาเซียน และหน่วยานภาคเครือข่าย เข้าร่วมงาน โดยนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ และประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อการให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม (AHA Centre) กล่าวรายงานการจัดการงานฯ

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ภูมิภาคอาเซียนมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยในปีที่แล้วร้อยละ 16 ของภัยธรรมชาติทั่วโลกเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนต่างต้องรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีความท้าทาย และมีดัชนีความเปราะบางต่อความเสี่ยงจากภัยพิบัติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33 งานในวันนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมสร้างภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็ง สามารถรับมือกับภัยพิบัติ และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ ซึ่งได้กำหนดประเด็นสำคัญทีจะขับเคลื่อนการณรงค์ในห้วงวันการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน ได้แก่ “รวมพลัง รวมใจ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพท้องถิ่นให้มีภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติอย่างสมดุล” ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรณรงค์ขององค์การสหประชาชาติเนื่องในวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล ประจำปี 2565 ได้แก่ “เตือนภัยล่วงหน้าได้เร็วทุกคนจะเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว” (Early Warning, Early Action for All) โดยเน้นถึงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย G ตามกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่มีเป้าหมายในการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลความเสี่ยงและระบบการเตือนภัยได้อย่างทั่วถึงภายในปี 2573

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของอาเซียนในปีนี้ได้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการจัดการภัยพิบัติและแจ้งเตือนภัยผ่านระบบเฝ้าระวังและตอบโต้ภัยพิบัติของอาเซียน หรือ Disaster Monitoring and Response System ที่ประสานงานโดย AHA Centre และได้มีการเปิดตัวคู่มือกรอบการเตรียมความพร้อมและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าของอาเซียน เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนของเราทุกคนจะได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนภัยโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า งานวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (Commemoration of ASEAN Day for Disaster Management) และวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction) ประจำปี 2565 ได้รับความร่วมมือจากประเทศคู่เจรจา ประเทศพันธมิตรอาเซียน ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม มาร่วมแสดงผลงานและแนวทางที่ดีในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในระดับชุมชน ตลอดจนนวัตกรรมด้านการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งมุ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินการในพื้นที่และชุมชนของประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างทั่วถึงต่อไป

สำหรับวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly : UNGA) ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติสากล ซึ่งต่อมาคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (ASEAN Day on Disaster Management : ADDM) เช่นกัน โดยทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติให้แก่ประชาชน อาทิ การเดินรณรงค์เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเสวนาทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมสันทนาการ โดยปีนี้มีการจัดกิจกรรม อาทิ การฉายวิดีทัศน์การสารจาก UNDRR และผลการดำเนินงานในฐานะประธาน ACDM ของประเทศไทย รวมถึงบูธนิทรรศการด้านการจัดการภัยพิบัติจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ประสานงานอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Centre) สภากาชาดไทย คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) สถาบันยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลก (IGES) ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) หน่วยงานโครงการ Inclusive and Gender Responsive Anticipatory Action in ASEAN (IGRAA) หน่วยงานเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือแห่งสวิตเซอร์แลนด์ (SDC) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) (คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR)

ร่วมแสดงความคิดเห็น