(มีคลิป) เกิดยุบตัวเพิ่มอีก 1 หลุม

หลุมยุบในบ่อน้ำที่ อ.เวียงชัย เกิดยุบตัวเพิ่มอีก 1 หลุม ชาวบ้านเชื่อมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษา หลังงวดที่ผ่านมาได้โชคกันหลายราย จึงนำศาลเจ้าที่มาตั้งแก้บน

วันที่ 5 ธ.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านทุ่งยั้ง ม.2 ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ซึ่งเกิดหลุมยุบขึ้นในบ่อน้ำสาธารณะของหมู่บ้าน ส่งผลให้น้ำในบ่อและปลานับหมื่นตัวที่นำมาปล่อยไว้ในบ่อนาน 3 ปี หายลงไปในหลุมทั้งหมด จนชาวบ้านเกิดวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าวไปต่างๆนานา เช่น เป็นเหตุอาเพศบ้าง เป็นโพรงพญานาคบ้าง แต่บางรายก็เป็นวิทยาศาสตร์ว่า เกิดจากการสูบน้ำใต้ดินไปใช้ในโรงโม่หินใกล้เคียงทำให้เกิดหลุมยุบ ก็ถือเป็นความเชื่อที่ยังรอการพิสูจน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ล่าสุดผู้สื่อข่าวลวงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าของกรณีดังกล่าว ก็พบว่าวันนี้ได้มีหลุมยุบขนาดเท่าๆกันกับหลุ่มเก่าเกิดขึ้นมาอีก 1 หลุม รวมเป็น 2 หลุม ห่างจากกันประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านได้นำไม้ไผ่มาทำเป็นรั้วกั้นรอบบ่อน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้คนลงไปในบ่อ ส่วนที่ใต้ต้นไม้ริมบ่อน้ำดังกล่าว ได้มีการตั้งศาลเจ้าที่และมีชาวบ้านนำมาลัย ดอกไม้ ธูปเทียน มากราบไหว้เพื่อขอพรและแก้บน โดยชาวบ้านบอกว่างวดที่ผ่านมามีคนถูกหวยกันหลายราย จึงพากันตั้งศาลเพื่อบูชาและแก้บนตามความเชื่อของแต่ละคน

นายดอน กองฟู อายุ 63 ปี ชาวบ้าน ม.13 เผยว่า ตอนนี้มีหลุมยุบเพิ่มขึ้นมาอีก 1 หลุม ข้างใต้คงเป็นโพรงและยุบตัวลงไป มีหลายคนที่มาที่นี่ก็มีความเชื่อว่าเป็นโพรงถ้ำพญานาคหรืออาเพศอื่นๆ แต่มีหลายคนที่มาก็ได้โชค ถูกหวยกันหลายคน จึงมีการนำศาลพระภูมิเจ้าที่มาตั้งเพื่อแก้บน ต่อมาคนที่มาก็จะมาขอพรที่ศาล บ้างก็มาแก้บน ส่วนที่ตนไหว้ขอพรไป ก็เป็นการขอให้เจ้าพ่อผาหมื่นปกปักรักษา ให้อยู่ดีมีสุข

ด้านนายทินภพ รักษ์แก้ว กล่าวว่า ชาวบ้านแถบนี้จะพากันมาทำบุญถวายข้าวพระในทุกวันเพ็ญเดือน 9 เพราะเชื่อว่าอาณาบริเวณนี้เป็นเขตของผาหินแตก ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ

ด้านการตรวจพิสูจน์หลุมยุบดังกล่าว วันนี้ได้มีเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณี กรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่การเกิดหลุมยุบ โดยนำเอาเครื่องมือวัดค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องมือทางธรณีฟิสิกส์ ที่นำมาตรวจคุณสมบัติทางเคมีของดินหินแร่ต่างๆ ที่มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน เป็นเครื่องมือที่ใช้สำรวจบนดินเพื่อให้ทราบสภาพชั้นดินชั้นหินในระดับความลึก 50 ม. เพื่อดูลักษณะธรณีใต้ดิน สำรวจโครงสร้างแนวการเกิดรอยแตกรอยเลื่อนใต้ดิน ที่อาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดหลุมยุบดังกล่าว ซึ่งคาดว่าการสำรวจดังกล่าวคงต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะแล้วเสร็จ และสรุปสาเหตุการเกิดหลุมยุบได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น