ย้อนอดีต “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” จ.เชียงใหม่

ประเพณีสงกรานต์หรือที่คนเมืองเหนือเรียกว่า ‘ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง’ เป็นเทศกาลที่ผู้คนมีความสุขสนุกสนานมาก เด็ก ๆ ได้ออกมาเล่นสาดน้ำกันให้คลายร้อนโดยไม่มีใครว่าเพราะเป็นประเพณีที่สาว ๆ แต่งตัวสวยงามทัดดอกไม้สีเหลืองออกไปทำบุญและเล่นน้ำสงกรานต์ หนุ่ม ๆ ได้ออกมาเล่นน้ำหยอกเย้าสาว ๆ โดยไม่ถือว่าเป็นการแทะโลมเกี้ยวพาราสี สำหรับผู้ใหญ่ก็ถือว่าสงกรานต์เป็นงานบุญใหญ่ประจำปี ต่างพากันช่วยตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญกันอย่างคึกคัก

เทศกาลสงกรานต์ในเมืองเชียงใหม่จัดเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และยาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน แต่จริง ๆ แล้วประชาชนเริ่มเล่นสงกรานต์ก่อนวันที่ 13 และเลิกเล่นหลังจากวันที่ 15 โดยเฉพาะเด็ก ๆ ในเขตอำเภอรอบนอกมักจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่วันที่ 10 เรื่อยมาจนวันที่ 17-18 เมษา เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่อากาศร้อนจัดเด็ก ๆ จึงออกมาเล่นน้ำให้คลายร้อน

ในเทศกาลสงกรานต์มีประเพณีสำคัญหลายประการที่ชาวเชียงใหม่ยึดถือปฏิบัติ แต่ละประเพณีล้วนมีความหมายและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่รอบตัวแทบทั้งสิ้น ประเพณีต่าง ๆ เริ่มจากวันที่ 13 จนถึง 15 เมษายนดังนี้

วันที่ 13 เมษา หรือวันสังขานต์ล่อง ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของปีและส่งท้ายปีเก่า ในวันนี้ชาวเมืองจะได้ยินเสียงปืนและจุดประทัดกันตั้งแต่เช้ามืด เพราะชาวบ้านยิงปืนเพื่อขับไล่ปู่สังขานต์ย่าสังขานต์หรือตัวเสนียดจัญไร มีการทำความสะอาดบ้าน ปัดกวาดหิ้งพระ ชำระสระสรงพระพุทธรูป กวาดขยะมูลฝอยและนำไปเผา ชำระร่างกายให้สะอาดผ่องใส แต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ อาจารย์มณี พยอมยงค์กล่าวว่า หากเป็นผู้หญิงเมื่อชำระร่างกายสะอาดแล้ว ให้ใส่เสื้อผ้าใหม่ ทัดดอกไม้เป็นนามปี เช่นหากเกิดปีชวดให้ทัดดอกจำปา เป็นต้น

นอกจากนั้น ในวันนี้ ยังมีการจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองคือ พระพุทธสิหิงค์ และพระเสตังคมณี ไปตามถนนต่างๆ เข้าสู่บริเวณพุทธสถาน หลังจากนั้นจึงอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ สู่ที่ประดิษฐาน ณ ปะรำพิธีที่จัดไว้ ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปนมัสการและสรงน้ำ

ในชุมชนเก่าบางแห่งเช่น หมู่บ้านยางหลวง อำเภอแม่แจ่ม ยังมีประเพณีพิเศษออกไปซึ่งแทบจะไม่พบในที่อื่นแล้วคือ ‘ประเพณีล่องสังขานต์’ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อแพหยวกกล้วย และตกแต่งอย่างสวยงาม ก่อนจะจัดขบวนแห่งไปประกอบพิธีที่ริมแม่น้ำโดยการนำแป้งข้าวเจ้าปั้นเป็นก้อนเช็ดตามหน้าตา เนื้อตัว ดูดซับสิ่งชั่วร้ายออกไปจากตัวแล้วจึงนำก้อนแป้งใส่ลงแพนำไปลอยในแม่น้ำ คำว่า ‘ล่อง’ ใน ‘ล่องสังขานต์’ น่าจะหมายถึง การนำแพไปล่องในแม่น้ำนี้ก็อาจเป็นได้

วันที่ 14 เมษายน หรือวันเนาว์ ซึ่งคนเมืองเรียกว่า ‘วันเน่า’ ในวันนี้จะไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นมงคล ไม่ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกัน หากมีการทะเลาะวิวาทกันจะถือว่าจะไม่เป็นมงคลตลอดปี วันเนาว์นี้คนเมืองถือว่าเป็นวันดา หมายถึงวันตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นในตอนเช้าต่างพากันไปตลาดจับจ่ายซื้อข้าวของเพื่อทำอาหารและขนมสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ขนมที่นิยมทำกันคือขนมจ็อก (ขนมเทียน) ข้าวแตน (นางเล็ด) ข้าวแคบ (ข้าวเกรียบ) ขนมวง และขนมเกลือ เป็นต้น

ตอนบ่ายหนุ่ม ๆ สาว ๆ จะพากันไปขนทรายจากแม่น้ำ เพื่อนำไปก่อเจดีย์ทรายในวันและตกแต่งเจดีย์ทรายด้วยตุงที่สวยงาม ในเชียงใหม่คนมักนิยมไปขนทรายกันที่แม่น้ำปิง ใกล้ ๆ สะพานนวรัฐ เพราะในช่วงนี้น้ำปิงจะลดลงจนสามารถลงไปขนทรายได้ ฉะนั้นจะเห็นว่าในวันนี้จะเห็นผู้คนต่างพากันถือขันเงิน (สมัยก่อน) หรือถังน้ำลงไปขนทรายในน้ำปิง และเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน การขนทรายเข้าวัดในวันเนาว์นี้ ถือว่าเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากเท่ากับเม็ดทราย หรือบางคนกล่าวว่า เป็นการทำบุญเพื่อชดใช้กรรมที่เกิดขึ้นทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งมากมายเหมือนเม็ดทรายที่เหยียบติดเท้าออกมาจากวัด ส่วนทรายที่ได้นั้นทางวัดจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

วันที่ 15 เมษายน หรือที่เรียกว่า วันพญาวัน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นวันทำบุญใหญ่ ในวันนี้ชาวบ้านจะเริ่มต้นชีวิตด้วยการไปทำบุญ ‘ทานขันข้าว’ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติมิตร หรือเพื่อนพ้องที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งมีการทำบุญอัฐิของญาติผู้ใหญ่ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วด้วย มีการสรงน้ำพระและไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของตนเอง

ในตอนบ่ายเป็นพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่ตนเคารพนับถือ เป็นการรำลึกถึงบุญคุณผู้ใหญ่และขอพรให้ชีวิตมีความสุขไปตลอดปี ผู้ใหญ่จะผูกฝ้ายขาวที่ข้อมือ เพื่อเป็นการรับขวัญและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เครื่องสำหรับดำหัวประกอบด้วย ขันข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำขมิ้นส้มป่อย หมากพลู เมี่ยง บุหรี่ และของกินเช่น ขนม นม และผลไม้ บางครั้งอาจจะมีเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ปัจจุบันที่นิยมกันมากคือผ้าเช็ดตัว เนื่องจากหาง่ายและเป็นของที่ใช้กันเป็นประจำ ในเชียงใหม่จะมีการจัดพิธีดำหัวผู้ว่าในวันนี้ด้วย ในพิธีนี้ นอกจากจะมีข้าราชการในเมืองแล้ว ยังมีขบวนดำหัวจากอำเภอรอบนอก เข้ามาร่วมดำหัวด้วย การสรงน้ำพระและการรดน้ำดำหัวอาจจะทำหลังวันพญาวันได้อีกหลายวัน

ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่

ภาพถ่ายโดยช่างภาพ บุญเสริม สาตราภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น