18 มิ.ย. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของ มช.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ทางราชการจัดตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ตามโครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2501 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ ณ ดินแดนล้านนา อันเป็นแหล่งสะสมวัฒนธรรมอันล้ำค่ามานานกว่า 700 ปี มีสภาพภูมิประเทศงดงามท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเป็นธรรมชาติ บริเวณเชิงดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

นับตั้งแต่มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผลก่อให้เกิดความภูมิใจและดีใจเป็นอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนา

วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น โดยกำหนดให้เปิดสอนในปีการศึกษา 2507 และให้กระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเตรียมการจัดตั้ง

วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2507 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 81 ตอนที่ 7 ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2507 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2507 วันเปิดเรียนวันแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

ภารกิจสำคัญในลำดับต้น ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือ การผลิตบัณฑิตออกไปเป็นกำลังของประเทศชาติ ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้วางรากฐานให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ว่า ไม่มีอะไรน่าเศร้าเท่ากับการสร้างบัณฑิตขึ้นมาแล้วหางานทำไม่ได้ เพราะไม่มีใครต้องการ ดังนั้น ก่อนที่จะกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนใน พ.ศ. 2504-2505 จึงได้มีการสำรวจความต้องการทางการศึกษาของประชาชนในภาคเหนือ ได้แก่ กลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษาธิการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ แนะแนวว่าอยากให้บุตรหลานเรียนวิชาใดในมหาวิทยาลัย พบว่าสาขาวิชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ อักษรศาสตร์ ตามด้วยแพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็ได้มีการสำรวจ ความต้องการของตลาดงานในจังหวัดของภาคการศึกษาภาค 8 ผลก็คือ มีความต้องการบัณฑิตในสาขาพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมากที่สุด ตามด้วยวิชาการศึกษา เกษตรศาสตร์ และแพทยศาสตร์ เมื่อได้ประมวลความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนกำลังคน และกำลังเงินแล้ว ใน พ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เริ่มต้นเปิดสอนใน 3 คณะวิชา ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ (จัดสอนวิชาอักษรศาสตร์) คณะวิทยาศาสตร์ (จัดสอนวิชาวิทยาศาสตร์ เตรียมแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์การเกษตร) ซึ่ง 2 คณะนี้ เป็นรากฐานของการศึกษาในแขนงวิชาชีพชั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีการเปิดสอนในคณะสังคมศาสตร์ (จัดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์, พาณิชยศาสตร์และการบัญชี) ซึ่งสอดคล้องตามความต้องการของตลาดงานในพื้นที่ ต่อมาใน พ.ศ. 2508 จึงได้โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นคณะที่ 4

ในยุคแรกของการก่อตั้ง มช. ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ช่วยกันประคับประคอง “สมบัติอันล้ำค่า” นี้ไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะนักศึกษา มช. ที่คนเชียงใหม่ให้ความเอ็นดูเหมือนลูกหลาน จนกระทั่งบัณฑิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จการศึกษาและเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรใน พ.ศ. 2509 ความสำเร็จของบัณฑิต มช. จึงเท่ากับเป็นหมุดหมายความสำเร็จของชาวเชียงใหม่และผู้คนที่ครั้งหนึ่งอาจเป็นผู้ตอบกระทู้ในคอลัมน์ออกข่วงด้วย

ข้อมูล/ภาพ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ร่วมแสดงความคิดเห็น