วิจัยฟื้นวิถีเมิงไต การรื้อฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมไทใหญ่เมืองแม่ฮ่องสอน

โครงการวิจัย ฟื้นวิถีเมิงไต การรื้อฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมไทใหญ่เมืองแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่


วันที่ 13 ตุลาคม 2566 คณะผู้วิจัยโครงการวิจัย ฟื้นวิถีเมิงไต การรื้อฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมไทใหญ่เมืองแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนับสนุนของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( สกสว ) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ( บพท ) ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม กับ วัดพระธาตุดอยกองมู จัดกิจกรรมรื้อฟื้น โครงการวิจัย ฟื้นวิถีเมิงไต การรื้อฟื้นและจัดการทุนวัฒนธรรมไทใหญ่เมืองแม่ฮ่องสอน งานประเพณีถวายข้าวมธุปายาส ของวัดพระธาตุดอยกองมู ประจำปี 2566 ณ วัดพระธาตุดอยกองมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

โครงการวิจัยได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ประวัติศาสตร์เมืองแม่ฮ่องสอน และพระธาตุดอยกองมู เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการทุนทางวัฒนธรรมไทใหญ่ อย่างมีส่วนร่วม ผ่านพื้นที่ทางสาธารณะของเมืองแม่ฮ่องสอน และฟื้นฟูประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระธาตุดอยกองมู บนพื้นฐานทุนวัฒนธรรมไทใหญ่ ในงานประเพณีถวายข้าวมธุปายาส (ต่างซอมต่อหลวง) ได้ร่วมกับวัดพระธาตุดอยกองมู ในการรื้อฟื้น “ก้อนเส้ารูปสัตว์มงคล” ที่ใช้ตั้งหม้อนึ่งข้าวในพิธีหุงข้าวมธุปายาส ( ข้าวซอมต่อหลวง ) ซึ่งค้นพบว่าสมัยโบราณ จะทำเป็นรูปสัตว์มงคล ได้แก่ ก๋าโหล่น ( ครุฑ ) นากา ( พญานาค ) และส่างซี่ ( สิงห์ ) ก๋าโหล่น ( ครุฑ ) เป็นอมนุษย์ กึ่งสัตว์กึ่งเทพ มีรูปร่างครึ่งนกครึ่งคน ศานาพราหมณ์เชื่อว่าเป็นพาหนะของพระนารายณ์ ชาวไทใหญ่เชื่อว่าครุฑ มีอำนาจในการป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นทางอากาศนากา ( พญานาค ) เป็นกึ่งเดรัจฉานกึ่งเทพ มีอำนาจในเมืองบาดาล เชื่อว่าจะทำหน้าที่ป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากผืนน้ำ ใต้พิภพ หรือเมืองบาดาลส่างซี่ ( สิงห์ ) เป็นสัตว์ในตำนานมีฤทธิ์มาก เชื่อว่าจะทำหน้าที่ป้องกันสิ่งชั่วร้าย หรือภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นบนพื้นดิน

จากความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ในตำนานที่มีอำนาจ จึงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้น ในพิธีกรรมถวายข้าวมธุปายาส โดยเฉพาะขั้นตอนสำคัญคือการนึ่งข้าวมธุปายาส นอกจากนี้ยังสื่อความหมายให้เห็นว่า แม้สัตว์เดรัจฉานหรือเทพที่มีฤทธิ์อำนาจ ยังยอมสิโรราบต่อพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้า อีกนัยยะหนึ่งสื่อความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นบรมครูเอกทั้งโลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกบาดาล แต่เดิมก้อนเส้ารูปสัตว์มงคลทั้งสามปั้นด้วยดิน แต่ในระยะหลังจะทำเป็นรูปสัญลักษณ์แทน ซึ่งหลายแห่งยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ บางแห่งก็สูญหายไป จากการศึกษาข้อมูลต้นแบบรูปจำลองสัตว์มงคล 3 ชนิดนี้ พบว่ามีอยู่ที่วัดหัวเวียง และที่วัดในสอย ซึ่งเป็นของโบราณ

อาจารย์สมศักดิ์ พรมจักร ประติมากร หนึ่งในคณะวิจัย ฯ ได้กล่าวว่า ภาพจำลองสัตว์มงคล วัสดุหลักที่ช่างโบราณได้ทำไว้ ที่ค้นพบมี 2 ชนิด ได้แก่ การปั้นด้วยดินเหนียว และการแกะสลักไม้ แต่คณะวิจัยได้จำลองโดยใช้การปั้นด้วยดินน้ำมัน แล้วหล่อด้วยปูนพลาสเตอร์

ทั้งนี้ ในอนาคตทีมวิจัยจะได้พัฒนาให้เป็นรูปสัญลักษณ์ที่เข้าถึงคนทุกช่วงวัย และให้รับรู้ถึงความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความหมายที่มีความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต

ร่วมแสดงความคิดเห็น