ส.ส.แพร่ วรวัจน์ จับมือ นพ.นิยม ขอมหาดไทย ทบทวนกฎหมายผังเมือง

แพร่ได้รับผลกระทบ ถูกควบคุมไม่ให้พัฒนาเป็นจังหวัดอุตสาหกรรม หวั่นลามไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

บ่ายวันที่ 21 พ.ย เวลา 13.10 น.. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่เขต 3 พร้อมด้วย นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล สส.แพร่ เขต 2 พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีที่หอการค้า สภาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการและประชาชนใน จ.แพร่ ได้รับผลกระทบจากการกำหนดผังเมืองใหม่ใน จ.แพร่ ว่า

พบกระบวนการทำงานของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตามกฏหมายผังเมืองใหม่ปี 2562 มีลักษณะเป็นการนำข้อมูลในอดีตมากำกับ และควบคุมการเจริญเติบโตของจังหวัด โดยไม่ได้ศึกษานโยบายของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ มาประกอบการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ รวมถึงการมองถึงอนาคตความอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นเป้าหมาย โดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต ที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล

เช่น นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ที่จะอบรมสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนถึง 20,000,000 ครัวเรือน วันนี้ จ.แพร่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการถูกควบคุมกำกับให้เป็นเมือง เพียงจังหวัดหัตถอุตสาหกรรม ไม่สามารถพัฒนารองรับทั้งการพัฒนารถไฟทางคู่ เมืองอุตสาหกรรมไม้สักจากป่าปลูก หรือการยกระดับสินค้าเกษตรสู่อุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องมีห้องเย็นด้วยได้เลย ซึ่งข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้เกิดเพียงจ.แพร่ เพียงจังหวัดเดียว แต่รูปแบบการทำงานในส่วนของผังเมือง จะส่งผลกระทบไปทุกจังหวัดในประเทศไทย และกระทบต่อการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลใหม่อีกด้วย

นายวรวัจน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการของผังเมืองที่ตนอยากเสนอ คือ 1. การวางผังเมืองควรต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การพัฒนาพื้นที่ในแต่ละจังหวัดของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งหมายถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ระดับอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้จากในประเทศและการส่งออก

2.การพัฒนาผังเมืองควรเปลี่ยนรูปแบบจากการเก็บข้อมูล เป็นรูปแบบของการประชุมระดมสมอง เพื่อวางแผนพัฒนาจังหวัด กับหอการค้าสภาอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรกร ประชาชนและหน่วยงานในจังหวัด

3.ควรนำนโยบายของรัฐบาลและข้อมูลการพัฒนา จากหน่วยงานของรัฐในแต่ละพื้นที่จังหวัด มาประกอบการพิจารณาจัดทำผังเมือง

4.การจัดทำผังเมืองควรมีรูปแบบที่สามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลง ได้กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เปลี่ยนแปลงไปได้โดยง่าย

5.ควรนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะรูปแบบที่พัฒนาเป็น Digital Twin มาใช้ในการวางแผน จะทำให้สะดวกรวดเร็ว สามารถพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของเมืองได้อย่างแม่นยำ

และ 6.การปรับเปลี่ยนผังเมืองตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ควรจะมีขั้นตอนที่สามารถเร่งรัดได้ เช่น การพัฒนาระบบขนส่งเย็นและห้องเย็น เพื่อรองรับการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ควรจะสามารถกำหนดได้เมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล

“ผมขอให้กระทรวงมหาดไทย และรัฐบาล ทบทวนเกี่ยวกับกฎหมายผังเมือง และการดำเนินการตามกฎหมายผังเมือง ที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์มากกว่าการพัฒนา รวมถึงปรับปรุงขั้นตอน การจัดทำ และการแก้ไขผังเมืองที่มีขั้นตอนมาก ล่าช้า ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และแนวคิดการพัฒนาของรัฐบาลใหม่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนผู้อยู่อาศัยในการวาง และจัดทำ หรือผู้ครอบครองที่ดิน หรืออาคาร ที่ตั้งอยู่ผังเมืองรวมเมืองแพร่(ปรับปรุง ครั้งที่ 3) จะได่รับผลกระทบพบว่าอยู่ในเขตท้องที่ ต.ทุ่งโฮ้ง ต.แม่ยม ต.ร่องฟอง ต.ทุ่งกวาว ต.ป่าแมต ต.เหมืองหม้อ ต.ในเวียง ต.กาญจนา ต.นาจักร ต.เวียงทอง ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่

โดยวันพุธที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30- 12.00 น.ณ หอประชุมนพรัตน์ โรงเรียนนารีรัตน์ จ.แพร่
ผู้อยู่ในเขตตำบลที่มีชื่อข้างต้น ได้ให้ความสนใจร่วมแสดงความคิดเห็น ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น