ปภ. แจ้งประจวบคีรีขันธ์ และ 11 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน

ปภ. แจ้งประจวบคีรีขันธ์ และ 11 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 3 – 8 ธ.ค.66

วันนี้ (1 ธ.ค. 66) เวลา 16.20 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 11 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ในช่วงวันที่ 3 – 8 ธันวาคม 2566 พร้อมจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 6/2566 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แจ้งว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 3 – 8 ธันวาคม 2566 แยกเป็น

  1. พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ (อ.ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย) ชุมพร (อ.สวี ทุ่งตะโก หลังสวน พะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองฯ พุนพิน เคียนซา พระแสง ดอนสัก) นครศรีธรรมราช (อ.เมืองฯ ขนอม สิชล นบพิตำ ท่าศาลา พรหมคีรี ลานสกา พระพรหม ปากพนัง ร่อนพิบูลย์ เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ ชะอวด หัวไทร) พัทลุง (อ.เมืองฯ ควนขนุน) สงขลา (อ.เมืองฯ กระแสสินธุ์ ระโนด สทิงพระ สิงหนคร ควนเนียง หาดใหญ่ นาหม่อม บางกล่ำ) ปัตตานี (อ.เมืองฯ ปะนาเระ มายอ แม่ลาน ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก) ยะลา (อ.เมืองฯ เบตง รามัน) นราธิวาส (อ.เมืองฯ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ จะแนะ สุคิริน สุไหงโก-ลก สุไหงปาดี) และตรัง (อ.เมืองฯ ห้วยยอด วังวิเศษ)
  2. พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ
  3. พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำตรัง แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ 11 จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยพื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนและพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประจำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ และเตรียมพร้อมอพยพหากสถานการณ์มีความรุนแรง อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการให้พร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามข้อมูลระดับน้ำ สถานการณ์ ประกาศแจ้งเตือนจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น