เร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้

กรมอนามัย เร่งส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ พร้อมจัดทีมช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม(ทีม SEhRT กรมอนามัย) ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ร่วมกับทีมจังหวัดลงพื้นที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัยของภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ที่มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก เน้นสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชน

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาสได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 13 อำเภอ 68 ตำบล 28,049 ครัวเรือนจังหวัดยะลา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 7 อำเภอ 36 ตำบล 6,898 ครัวเรือน จังหวัดปัตตานีมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 8 ตำบล 1,108 ครัวเรือน จังหวัดสงขลามีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 3 ตำบล 190 ครัวเรือน และจังหวัดสตูลมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ 4 ตำบล 1,222 ครัวเรือน หลายพื้นที่มีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว สำหรับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายทีมภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลาสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาลสุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดทดสอบภาคสนาม ประเมินความเสี่ยง การปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร และน้ำ เพื่อประเมินและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพประชาชนอย่างเร่งด่วนแล้ว

“ทั้งนี้ กรมอนามัยมีข้อแนะนำเพื่อสุขอนามัยที่ดีและความปลอดภัยสำหรับประชาชน ขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมผ่านช่องทางสื่อสารต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ หากมีน้ำท่วมในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมยกสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้งสิ่งของจำเป็น เตรียมกระสอบทรายสำหรับอุดปิดทางน้ำไหล เรียนรู้เส้นทางอพยพในพื้นที่ ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำหลาก หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และดูแลสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ เช่น กินอาหารปรุงสุกใหม่ ล้างมือทุกครั้งก่อนกินและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย ลดเสี่ยงโรค” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้านนายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา กล่าวว่า ทีม SEhRT กรมอนามัย ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ประสานงานและเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือ โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ 1) Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง 2) Surveillance กำหนดผังงานและระบบที่ดี 3) System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย ช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจัดเตรียมสถานที่ รวมถึงการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในศูนย์อพยพให้ได้มาตรฐาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ลดเสี่ยงโรคจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น