(มีคลิป)ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 2 คุณค่าอักษรล้านนา

“อักษรล้านนา” มรดกล้ำค่าทางอักษรศาสตร์ กุญแจสำคัญไขประตูสู่อดีต

“…คำเมืองถ้าคนเมืองไม่พูด แล้วใครจะพูด
หนังสือตัวเมือง ถ้าคนเมืองไม่เรียน ไม่เขียน ไม่อ่านแล้วใครจะเป็นคนทำ… ”
— อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ —

“…คำเมืองถ้าคนเมืองไม่พูด แล้วใครจะพูด หนังสือตัวเมือง ถ้าคนเมืองไม่เรียน ไม่เขียน ไม่อ่านแล้วใครจะเป็นคนทำ… ”
— อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ —

ภูมิปัญญาชาวล้านนา อักษรแห่งมนต์ขลัง ที่อยู่มานานกว่า 700 ปี

อักษรธรรมล้านนา หรือ อักษรธรรมเมือง คนเมืองจะเรียกว่า “ตั๋วเมือง” คือ ตัวหนังสือของคนเมือง เขียนเรื่องในพระพุทธศาสนาทั้งหมด และรวมไปถึงเรื่องพิธีกรรม ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ เรื่องวรรณกรรมอีกด้วย  — อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ นักวิชาการด้านล้านนาศึกษา

“ตั๋วเมือง” หรือ “ตัวเมือง” เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารของชาวล้านนา ถือได้ว่าเป็นอักษรแห่งภาษาแม่ของชาวล้านนา  ใช้เป็นภาษาที่เขียนลงในหนังสือทางราชการของอาณาจักรล้านนา ในช่วงประมาณ 700 ปีที่ผ่านมา หลักฐานที่มีอักษรล้านนาปรากฏอยู่ มีทั้งบนศิลาจารึก พับสา (สมุดที่ทำขึ้นจากเปลือกของ ไม้สา เป็นเสมือนตำรา คู่มือของนักวิชาการพื้นบ้านล้านนา) และคัมภีร์ใบลาน ในอดีตอักษรล้านนา ถือเป็นอักษรที่สำคัญ และแพร่พลายเป็นอย่างมากในล้านนา

การกำเนิดอักษรธรรมล้านนา มาจากการปรับปรุงจากอักษรที่มีอยู่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากความจำเป็นทางศาสนา เพื่อเขียนพระธรรมคำภีร์ให้แก่คนในวงกว้าง อักษรล้านนาจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ ควรแก่การรับรองพระพุทธพจน์ จึงเป็นอักษรที่ใช้เกี่ยวกับพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ใช้ในการจารพระไตรปิฎก คัมภีร์ใบลาน ธรรมชาดก บทสวดมนต์ พงศาวดาร ตำนาน ศิลาจารึก อักษรธรรมล้านนาเริ่มต้นจากการใช้เขียนภาษาบาลีเป็นหลัก เกิดการพัฒนาของภาษา เริ่มเปลี่ยนแปลงจากภาษาบาลี ดัดแปลงมาใช้เขียนเป็นภาษาเมือง

ดร.ดิเรก อินจันทร์ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้บอกเล่าเกี่ยวกับอักษรล้านนาว่า ล้านนาเรา เรียกว่า อักษรฝักขาม หรืออักษรสุโขทัย แต่เดิมอักษรฝักขามจะใช้เกี่ยวกับเรื่องของอาณาจักร แต่เมื่อเราได้รับพระพุทธศาสนาเข้ามา และพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องบันทึกหลักคำสอนของพุทธศาสนาในบ้านเรา ซึ่งคำสอนนั้นจะมีการบันทึกเป็นภาษาบาลี อักษรฝักขามสามารถที่จะบันทึกเสียงคนเมืองได้ แต่ไม่สามารถที่จะเทียบอักษรบาลีได้ คนล้านนาจึงเลือกใช้อักษรมอญในการบันทึก เพราะมองว่าอักษรมอญ มีอักษรครบ สามารถจะบันทึกภาษาบาลีได้ จากนั้นก็มีการพัฒนาของภาษามาตลอด จนกลายมาเป็นอักษรธรรมล้านนาในปัจจุบัน แล้วนำเอาองค์ความรู้เหล่านั้นมาบันทึกลงในใบลาน ซึ่งในใบลานนั้นไม่ได้มีแค่องค์ความรู้ทางด้านศาสนา ยังมีองค์ความรู้ต่างๆ ประวัติศาสตร์ ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ สถาปัตยกรรมการก่อสร้าง วรรณกรรมฉันทลักษณ์บทประพันธ์ค่าวซอต่าง ๆ

“…องค์ความรู้ต่างๆ สามารถไปสืบค้น ไปศึกษาได้ในใบลาน และปั๊ปสา(พับสา)
ถ้าเกิดเราอ่านตัวเมืองได้ คนอ่านอักษรธรรมล้านนาได้ ก็เหมือนกับมีกุญแจเข้าไปไข… ”
— ดร.ดิเรก อินจันทร์–

อักษรล้านนา ศาสตร์อันสูงสุดของชาวล้านนา

อาณาจักรล้านนา อาณาจักรแห่งความยิ่งใหญ่ มีวัฒนธรรมมาจากหลากหลายพื้นที่ มีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตัวเอง ซึ่งในล้านนา มีตัวอักษรใช้ 3 แบบด้วยกัน คือ อักษรธรรมล้านนา อักษรฝักขาม และ อักษรไทยนิเทศ หรืออักษรขอมเมือง ทั้ง 3 แบบล้วนเป็นอักษรโบราณ ที่เคยมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต

อักษรธรรมล้านนา เป็นอักษรที่นิยมใช้จารคัมภีร์พุทธศาสนาทั่วไป โดยมีวิธีการเขียน จะต้องใช้ 2 มือ โดยมือข้างซ้าย ใช้จับใบลานไว้ และมีฐานนิ้วโป้งเป็นฐานของเหล็กจารในการหมุนเพื่อเขียนตัวอักษร และมือขวา ใช้จับเหล็กจาร การใช้เหล็กแหลมในการจาร ทำให้ตัวอักษรมีรูปลักษณะที่ค่อนข้างเป็นวงกลม ทำให้ตัวอักษรมีลักษณะเส้นที่เล็ก และส่วนปลายอักษรจะมีลักษณะแหลม

เวลาเขียนผิดเขาจะไม่ขีดฆ่า เพราะ เขามีความเชื่อว่าอันนี้คือตัวธรรมพระเจ้า เขียนอักขระตัวนึงได้บุญเยอะ ถ้าหากเราเขียนผิดแล้วเขาไปขีดฆ่ามันเป็นการทำลาย เป็นบาป เพราะมันมีความศักดิ์สิทธิ์ถือว่าเป็นคำสอนหรือว่าเป็นอักษรซึ่งให้ปัญญา — ดร.ดิเรก อินจันทร์ —

(สำนักศิลปะ และวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่)

อักษรฝักขาม ตัวหนังสือที่ดัดแปลงมาจากอักษรสุโขทัย ที่แพร่เข้ามาในล้านนา ซึ่งเป็นที่นิยมในการเขียนศิลาจารึก หลักที่เขียนเป็นอักษรฝักขามเก่าแก่ที่สุด คือ ศิลาจารึก ลพ.9 เขียนพ.ศ.1954 และหลักใหม่เขียน พ.ศ.2370 โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการเปลี่ยนรูปร่าง และอักขรวิธีแตกต่างไปจากเดิมบางส่วน ลักษณะเด่นของอักษรฝักขาม คือ การตอกด้วยเหล็กลิ่มลงบนหลักศิลา ฐานพระพุทธรูป และการมีหยักตรงกลางตัวอักษร รูปอักษร จะมีลักษณะเส้นที่เท่ากันตลอดตั้งแต่ต้นจรดปลาย ไม่แหลม เพราะการเขียนนั้น ตอกลงบนวัสดุที่แข็ง ทำได้ลำบาก รูปอักษรจึงค่อนข้างเป็นเส้นตรง

อักษรไทยนิเทศ หรืออักษรขอมเมือง เกิดจากการดัดแปลงอักษรธรรมล้านนา และอักษรฝักขามเข้าด้วยกัน แล้วเติมอักษรไทยนิเทศ จะนิยมในการใช้เขียนกวีนิพนธ์ต่าง ๆ  ประเภทโคลง และจารในใบลาน เช่น นิราศหริภุญไชย โคลงมังทรารบเชียงใหม่ โคลงพรหมทัต เป็นต้น ต้องใช้เป็นอักษรไทยนิเทศ เพราะ อักษรธรรมล้านนา ถือเป็นของสูง ใช้ในการเขียนเกี่ยวกับศาสนา จะไม่ใช้เขียนในงานของกวีนิพนธ์ อักษรไทยนิเทศ จะมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงวิธีในการจาร แบบอักษรธรรมล้านนา รูปอักษรจะมีลักษณะกลมป้อม ซึ่งตัวอักษรแต่ละชนิด ล้วนมีหน้าที่ และที่มาในสังคมล้านนาที่ต่างกัน การใช้ตัวอักษรของชาวล้านนาในอดีตจึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

ตั๋วเมือง มรดกทางวัฒนธรรมอันมีค่า…ที่ใครหลายคนมองว่าตายแล้ว แต่ความเป็นจริงยังคงอยู่

อาจารย์เกริก ได้อ่านอักษรล้านนาให้เราฟัง มีใจความประมาณว่า จะไปค้า ดีบ่ดี เอาอายุไตยตั้งสองข้าง เศษข้างบนมากกว่าข้างต่ำ บ่ดีไปแล เป็นการพยากรณ์เรื่องการไปค้าขายต่างเมือง สะท้อนให้เห็นว่า อักษรล้านนานั้น เป็นเสมือนสมุดบันทึกเรื่องราว วิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ถ้าเราอ่าน เราเขียนได้ ก็เหมือนเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปศึกษาเรื่องราวในอดีต รู้รากเหง้าของตนเอง คุณค่าแห่งวิถีชีวิตชาวล้านนาที่ถูกส่งผ่านตัวอักษรล้านนา

ตั๋วเมืองเคยเสื่อมลงในช่วงที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า และในเวลาต่อมาเมื่อพ้นจากการปกครองของพม่า ล้านนาก็ตกเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีความต้องการให้สยามประเทศเป็นหนึ่งเดียวในด้านภาษา จึงใช้ภาษาไทยกลางเป็นสื่อ ไม่อนุญาตให้ใช้ตั๋วเมือง ทำให้ชาวล้านนาในรุ่นหลัง น้อยคนที่จะรู้จักตั๋วเมือง อ่านตั๋วเมืองไม่ออก ทั้งที่อักษรล้านนานั้นเป็นภาษาที่นักปราชญ์แห่งล้านนาใช้ภูมิปัญญาร่วมกันคิดค้น ประดิษฐ์ขึ้นมา

ในปัจจุบันหลายคนมองว่า อักษรล้านนานั้นได้ตายไปแล้ว คนเริ่มไม่อ่านตัวเมือง ใช้เพียงแค่อักษรไทย ในระบบการศึกษาแทบจะไม่มีการเพิ่มหลักสูตร การสอนอักษรธรรมล้านนาในระบบ บทบาทของตัวเมืองเริ่มหายไป ผู้รู้อักษรธรรมล้านนาในปัจจุบันนั้นมีอยู่น้อย มักอยู่ในแวดวงของนักวิชาการ ผู้ประกอบพิธีกรรมบางกลุ่ม ช่างศิลป์พื้นเมือง และหมอพื้นบ้าน ไม่เป็นที่รับรู้ของบุคคลทั่วไปมากนัก

ในอดีต อักษรล้านนา เคยเป็นมรดกทางด้านภาษาอันล้ำค่า ที่ชาวล้านนาใช้สื่อสารผ่านการพูด การเขียน ใช้บันทึกองค์ความรู้ แต่ในปัจจุบันกลายมาเป็นตั๋วเมืองที่แสดงสัญลักษณ์ อัตลักษณ์ของความเป็นล้านนา พบเห็นได้ตามคัมภีร์ ใบลาน ป้ายต่าง ๆ ของวัด โบราณสถาน สถาบันการศึกษา สถานที่ราชการ สถานที่สำคัญต่าง ๆ แม้ว่าในยุคนี้จะไม่มีการใช้อักษรล้านนาในชีวิตประจำวันแล้ว แต่อักษรล้านนายังคงมีคุณค่าที่ต้องเก็บรักษา และส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา ให้มีความภาคภูมิใจ และเข้าใจในรากเหง้าของความเป็นคนล้านนา ตัวอักษรที่ไม่ได้มีไว้เพื่อความสวยงาม แต่มีไว้เพื่อการแสดงออกถึงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่คนยุคใหม่อาจไม่เคยรับรู้

“…คุณค่า ก็คือมันบันทึกเรื่องของวัฒนธรรมชีวิต และองค์ความรู้สมัยนั้น
ที่พากันมาเรียนสังเกตว่าจะเป็นคนอายุ 50-70 ขึ้นไป เพื่อค้นหารากเหง้าตัวเอง
เป็นคนเมือง พูดเมือง กินลาบ และก็ฟังซอ แต่ไม่รู้ภาษาของตัวเอง… ”
— อาจารย์ เกริก อัครชิโนเรศ —

อักษรล้านนาที่ถูกฝังด้วยจิตวิญญาณความเชื่อของชาวล้านนา มากว่า 700 ปี อักษรที่ซ่อนเรื่องราว ความเชื่อ และวิถีชีวิตของเหล่าบรรพบุรุษ อนุรักษ์อักษรล้านนาให้คงอยู่ต่อไป หากยังมีผู้อนุรักษ์อยู่ อักษรล้านนาจะไม่มีวันตายไปจากจิตวิญญาณของชาวล้านนา ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ชั่วอายุคนก็ตาม …แม้จะหมดสิ้นความหมายในการสื่อสารแต่ความหมายทางจิตวิญญาณยังคงอยู่

ร่วมแสดงความคิดเห็น