หัวใจสำคัญพระพุทธศาสนา ช่างหล่อพระโบราณล้านนาที่เหลืออยู่หนึ่งเดียว

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 3 สล่าหล่อพระล้านนา

“…ขึ้นโครงร่าง ขึ้นฐาน ขึ้นบัว ขึ้นตัว จนถึงรูปลักษณะของพระ
เป็นแบบเก่าแท้ๆ แบบโบราณ ก็จะมีอยู่ที่นี่ อยู่หลังเดียว
ถ้าหมดรุ่นลุงอี๊ดไป คิดว่าบ้านช่างหล่อก็คงเหลือแต่ชื่อ… ”
— ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง —

หนึ่งเดียวที่ยังคงอยู่ ช่างหล่อพระโบราณ ผู้สืบสานงานประติมากรรมพุทธศาสนา

เด็กชายคนหนึ่งที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีอาชีพเป็นช่างหล่อพระ คอยดู คอยซึมซับ จนในวันนี้เด็กคนนั้นได้เติบโตมาเป็นสล่าหล่อพระล้านนาแบบแท้ๆ หนึ่งเดียวที่คงเหลืออยู่ในเชียงใหม่แห่งนี้ “ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง” ทายาทรุ่นที่ 5 ของตระกูล ผู้สืบทอดการหล่อพระจากรุ่นปู่ รุ่นทวด ยาวนานมากว่า 100 ปี องค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้มา ล้วนมาจากการสังเกต เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากที่บ้าน และเรียนรู้เพิ่มเติมจากแหล่งอื่น ๆ ให้ได้มากที่สุด

ถนนช่างหล่อ ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ตั้งของบ้านลุงอี๊ด สล่าหล่อพระล้านนา และยังเป็นถนนที่มีร่องรอยของรากเหง้าวัฒนธรรมฝังไว้อยู่ทั่วทุกทิศ นับตั้งแต่สมัยพญามังรายเริ่มสร้างบ้านแปลงเมืองเชียงใหม่ พ.ศ. 1839 และในยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง สมัยพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครล้านนา ได้ให้มีการตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นชุมชนต่าง ๆ แต่ละชุมชน ชาวบ้านก็จะมีทักษะ อาชีพเฉพาะด้าน เช่น ช่างหล่อ ช่างเปี๊ยะ ช่างเงิน เป็นต้น

ในอดีตชุมชนเหล่านี้มีการตั้งอยู่บริเวณรอบแนวกำแพงเมือง จึงเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางวัฒนธรรม ที่ไม่ว่ามุมไหน ทิศไหน ก็จะมีร่องรอยของวัฒนธรรมอยู่ ให้ผู้คนได้พบเห็น และสัมผัสกับความวิจิตร งดงามของวัฒนธรรมเหล่านั้น ในส่วนของบ้านช่างหล่อนั้นถือเป็นชุมชนเก่าแก่ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนสล่า ที่ทำเกี่ยวกับงานหล่อ มีชื่อเสียงในด้านปฏิมากรรมหล่อพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ซึ่งในปัจจุบันนี้ที่ตั้งของชุมชนช่างหล่อ จะอยู่ระหว่างประตูเชียงใหม่ และประตูสวนปรุง

องค์ความรู้ หล่อพระล้านนา ที่ส่งต่อรุ่นต่อรุ่นมานานกว่า 100 ปี

อาณาจักรล้านนา ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมีความศรัทธา ในพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากฝังลึก จนหล่อหลอมก่อให้เกิดศิลปะ และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม หนึ่งในนั้น คือ การหล่อพระล้านนา สล่าหล่อพระ ถือเป็นผู้สร้างงานศิลปะชั้นครู เป็นส่วนหนึ่งของการทำนุบำรุง และสืบสานพระพุทธศาสนา การหล่อพระกว่าจะหล่อออกมาได้ในแต่ละชิ้นนั้น ใช้มือทุกขั้นตอน ใช้องค์ความรู้ ความเพียร ความอดทน และใส่จิตวิญญาณ ความศรัทธาของสล่าลงไป

“การปั้นด้วยมือออกมาหนึ่งชิ้นมันต้องอาศัยเวลา การปั้นแต่ละองค์ก็จะไม่เหมือนกัน การหล่อจะไม่เหมือนการหล่อสมัยใหม่ เพราะว่าอุปกรณ์เราทำด้วยมือทุกอย่าง ตั้งแต่ปั้น หล่อ ขัด และแต่งทำผิวเสร็จ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่มันมีคุณค่าทางจิตใจ” — ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง –

ลุงอี๊ดบอกกับเรา การหล่อพระแบบดั้งเดิมจะเริ่มโดยการผสมดินเหนียวเข้ากับแกลบดำ และแกลบเหลืองเพื่อนำไปปั้นเป็นรูปทรง (ภาคเหนือจะแตกต่างจากภาคอื่น จะใช้เป็นดินโบราณ ดินแกลบ) เมื่อเสร็จสิ้นทั้งองค์จะนำขี้ผึ้งมาหุ้ม และสร้างลวดลาย แล้วทาด้วยน้ำขี้วัวสดผสมดินนวลเพื่อให้ผิวของขี้ผึ้งไม่แตก จากนั้นพอกดินอีกสองชั้น เมื่อดินแห้งจะต้องใช้ไฟอ่อนเพื่อให้ขี้ผึ้งละลายออกมา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างดินชั้นนอกกับดินชั้นใน ก่อนนำไปเผาให้สุก จากนั้นจึงหลอมทองและ เริ่มการหล่อต่อด้วยการกะเทาะดินออกแล้วนำมาขัดผิว

หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนาล้านนา

ปัจจุบันสล่าที่หล่อพระด้วยวิถีเดิมตามฉบับยุคโบราณนั้น เหลืออยู่เพียงหยิบมือ ลุงอี๊ดกลายเป็นช่างหล่อพระเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการยอมรับในด้านฝีมือ ด้านองค์ความรู้ที่ถือว่าครบถ้วนในศาสตร์เฉพาะตัวนี้ ลุงอี๊ดเชื่อว่าวิธีโบราณนี้จะทำให้พระพุทธรูปมีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าการหล่อพระแบบสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี

พระพุทธรูปฝีมือลุงอี๊ด ผลงานโดดเด่นที่กระจายอยู่ทั่วทั้งเชียงใหม่ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในวัดสำคัญๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดพระสิงห์ วัดเชียงมั่น วัดล่ามช้าง วัดอุปคุต วัดบุพพาราม เป็นต้น

“คุณค่าในการปั้นมือลุงอี๊ดคิดว่ามันจะมีคุณค่าในตัวมากกว่า คือเราต้องมีสมาธิในการปั้นพระต่อชิ้นต่อองค์ มีความสุขที่เราได้เห็นพระที่เราปั้นอยู่ในวัดมีคนมากราบไหว้ พระที่เราปั้นอยู่ในวัดมีคนมากราบไหว้บูชาเราถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มีความขลังในตัวเอง เพราะว่าพระโบราณเนื้อสำริดยิ่งนานยิ่งมีคุณค่าในตัวเอง” — ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง –

เส้นทางวัฒนธรรมภายใน 4 มุมเมืองเชียงใหม่ที่มีวัดนับสิบนับร้อย ล้วนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปที่หล่อด้วยมือของลุงอี๊ด และสล่าหล่อพระล้านนาท่านอื่น ๆ มาหลายชั่วอายุคน ทำให้การสืบสานพระพุทธศาสนาในเชียงใหม่มีความสมบูรณ์ พระพุทธรูปทุกองค์ล้วนผ่านพิธีกรรมทางศาสนาอันมีความศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคล ให้พุทธศาสนิกชนมากราบไหว้บูชา ได้ขอพร และดลบันดาลโชคลาภบารมีให้บังเกิดแก่ผู้มีจิตศรัทธา

“…ถ้าหมดรุ่นลุงอี๊ดไปคิดว่าบ้านช่างหล่อก็คงเหลือแต่ชื่อ คงจะเป็นรุ่นสุดท้าย แทบจะสูญหายไป
นอกจากเรายังมีลูกศิษย์ที่คอยสนับสนุนเราอยู่ วันวันหนึ่งหากไม่มีเรา
ลูกศิษย์ที่เราได้สอนก็คงจะได้แทนเราขึ้นมา…”
— ลุงอี๊ด ชัยรัตน์ แก้วดวงแสง –
(ลูกศิษย์ลุงอี๊ด : สุเมธา ภูคณะ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

การหล่อพระแบบโบราณต้องใช้เวลา และความเพียร การอนุรักษ์ให้มรดกล้ำค่าทางภูมิปัญญานี้ยังคงอยู่ เราต้องหล่อหลอมจิตวิญญาณความศรัทธาของคนรุ่นใหม่ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา สิ่งที่น่ายินดี ที่ทุกวันนี้ยังมีคนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาทั่วเชียงใหม่ เข้ามาเรียนรู้ และช่วยลุงอี๊ดสืบทอดองค์ความรู้โบราณนี้ให้คงอยู่ เปลวไฟจากการหล่อพระที่ใกล้มอดดับ จะกลับมาลุกโชนอีกครั้งด้วยมือของเด็กรุ่นใหม่ ช่วยกันพัฒนาองค์ความรู้สืบสานจารีตประเพณี และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับดินแดนล้านนาสืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น