หลังเกิดพายุฤดูร้อน ยังไม่ช่วยสลายฝุ่น เช้านี้รั้งอันดับ 1 อากาศแย่ที่สุดของโลก

ควันไฟป่า PM 2.5 เช้านี้รั้งอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก ส่วนพื้นที่มี PM 2.5 มากสูงสุดที่ บ้านฮ่างต่ำ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 320 มคก./ลบ.ม.

วันที่ 20 เม.ย. 67 จากรายงานคุณภาพอากาศเช้าวันนี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของ จ.เชียงใหม่ ช่วงเวลา 07.00 น. ข้อมูลจาก https://www.iqair.com/th/thailand/chiang-mai ค่าเฉลี่ยดัชนีคุณภาพอากาศ US AQI จ.เชียงใหม่ ยังจะอยู่อันดับ 1 ของโลก มีค่า 176 มคก./ลบ.ม. มีผลกระทบต่อทุกคน ความเข้มข้น PM 2.5 ในเชียงใหม่ขณะนี้เป็น 21 เท่า ของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเมื่อวานช่วงบ่าย ๆ ได้เกิดพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า และฝนตกหนักราว 1 ชั่วโมง จึงสงบแต่คุณภาพอากาศกลับไม่ดีขึ้น จากภาพช่วงพายุเริ่มเกิดขึ้นจากทางทิศตะวันตก และเกิดพายุฤดูร้อนพัด หลังพายุฤดูร้อนพัด ดอยสุเทพยังคงมีกลุ่มควันสีขาวปกคลุม แสดงให้เห็นว่าคุณภาพอากาศยังไม่ดีกลับคืนมา

ช่วงเวลาเดียวกัน 07.00 น.วันที่ 20 เม.ย. 67 จากค่าเฉลี่ย PM 2.5 เป็นรายชั่วโมงจากเว็บไซต์ cmuccdc.org ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายงาน พบสูงสุดที่ 1. บ้านฮ่างต่ำ ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 320 มคก./ลบ.ม. ,2. รพ.สต.บ้านใหม่ ต.เมืองคอง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 318 มคก./ลบ.ม. ,3. อาคารศูนย์การแพทย์ ทต.สันนาเม็ง(2) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 263 มคก./ลบ.ม. ,4. บ้านแม่ปั๋ง ต.แม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ 236 มคก./ลบ.ม. และ 5. อาคารอเนกประสงค์ของหมู่บ้านคุรุสภา หมู่ที่ 10 ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 211 มคก./ลบ.ม.

จากข้อมูลศูนย์อำนวยป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จ.เชียงใหม่ ได้งานจุดความร้อน (Hotspot) ประจำวันที่ 20 เมษายน 2567 รอบเช้า จ.เชียงใหม่พบจุดความร้อน จำนวน 30 จุดพบในพื้นที่ อ.สะเมิง 4 จุด ,เชียงดาว 4 จุด ,แม่วาง 4 จุด ,ดอยเต่า 4 จุด ,ดอยสะเก็ด 3 จุด ,แม่แจ่ม 3 จุด,อมก๋อย 2 จุด ,แม่แตง 2 จุด ,ฮอด 1 จุด ,แม่ออน 1 จุด ,หางดง 1 จุด และเวียงแหง 1 จุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น