ผวจ.แพร่ เตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อนรอบสอง

ผวจ.แพร่เตือนประชาชนระวังพายุฤดูร้อนรอบสอง สั่งกำชับ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือน และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างใกล้ชิด

เมื่อบ่ายวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลาประมาณ 15.00 น. นางสาวรำพู จันต๊ะปะตุ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ รายงานว่า ได้เกิดสถานการณ์พายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและมีพายุลูกเห็บตกบางพื้นที่ของจังหวัดแพร่ โดยหนักสุด 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสอง และร้องกวาง อ.เมืองแพร่ และสูงเม่นบางพื้นที้

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น มีบ้านเรือนราษฎร และสิ่งสาธารณประโยชน์ โรงรถ คอกสัตว์ ได้รับผลกระทบหนักสุดใน 2 อำเภอ 6 ตำบล 11 หมู่บ้าน 73 หลัง คาเรือน ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่อำเภอสอง ต.ห้วยหม้าย หมู่ที่ 3, 6, 11, 14 และ 16 เสียหาย 18 หลังคาเรือน, อำเภอร้องกวาง ต.แม่ยางตาล หมู่ 3 และ หมู่ 4 เสียหาย 20 หลังคาเรือน, ต.น้ำเลา หมู่ 3 เสียหาย 6 หลังคาเรือน, ต.ทุ่งศรี หมู่ 1 เสียหาย 6 หลังคาเรือน, ต.ร้องเข็ม หมู่ 6 เสียหาย 3 หลังคาเรือน และตำบลแม่ยางฮ่อหมู่ 6 เสียหาย 20 หลังคาเรือน อ.เมืองหงาย ตำบลสูงเม่นบางส่วน

ภายหลังเกิดเหตุ นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้สั่งกำชับให้ นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนติดตามสถานการณ์และปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นในระยะนี้ หากเกิดเหตุขึ้นในพื้นที่ ให้รีบประสานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแพร่ทันที ที่หมายเลข โทรศัพท์ 054 533 680 และ 054 522 513

ทั้งนี้ ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 6 (84/2567) ในช่วงวันที่ 3 – 5 พ.ค. 67 คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 7 พ.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, น่าน, แพร่, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
วันที่ 4 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
วันที่ 5 – 6 พฤษภาคม 2567 ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทางด้าน อบจ.แพร่ นายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายกอบจ.แพร่ได้ประกาศปืดโรยิมส์1พันที่นั่งเนื่องจากได้รับความเสียหายจากพายุด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น