รองผู้ว่าการจังหวัดเชียงราย นั่งหัวโต๊ะ ถกทางออกปัญหาการยกฐานะอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 11 พ.ย. 63 นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รอง ผวจ.เชียงราย เป็นประธานในที่ประชุมร่วม เพื่อหาทางออกกรณีชาวบ้านคัดค้านการยกฐานะอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า โดยได้รับเกียรติจาก พ.อ.เจนณรงค์ ขำฉา         รอง ผบ.มทบ.34 พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว กอ.รมน.เชียงราย นายจิรัฏฐ์ กัมพลานนท์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ.15 นายเจษฎา เงินทอง ผอ.ส่วนสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 นายสนิท หอมนาน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า (เตรียมการ) พร้อมทั้งฝ่ายปกครอง และหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการยกฐานะอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า 4 อำเภอคือ เทิง เวียงแก่น ขุนตาล และเชียงของ

ในส่วนของแกนนำชาวบ้านที่คัดค้านการยกฐานะ ประกอบด้วยนายทูลสวัสดิ์ ยอดมณีบรรพต นายชัยยุทธ อนุสรณ์ศิลปะ นายเอกภพ จตุโชคอุดม นายทรงเดช ยอดมณีบรรพต และยังมีตัวแทนชาวบ้านจาก 4 อำเภอ ร่วมชุมนุมและถือป้ายคัดค้านการยกฐานะที่ด้านนอกอาคารสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลเวียง อ.เทิง รวมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมทั้งหมดประมาณ 200 คน

นายจิรัฏฐ์ กัมพลานนท์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สบอ.15 กล่าวว่า การยกฐานะวนอุทยานภูชี้ฟ้าเป็นอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า ได้ผ่านขั้นตอนตามระเบียบ มีการสำรวจแนวเขต การทำประชาคม แรกเริ่มมีการกำหนดเขตอุทยานไว้เป็นเนื้อที่ 286,869.54 ไร่ แต่ทางกรมป่าไม้ได้พิจารณาตัดพื้นที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน และเขตป่าชุมชนของชาวบ้านออกไปทั้งหมด เหลือพื้นที่ที่จะประกาศเป็นอุทยานจริงแค่เพียง 58,069.24 ไร่ เพราะทางส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเห็น  ถึงความสำคัญในเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยที่เดิมของชาวบ้าน และเคารพการตัดสินใจของผู้อาศัยในพื้นที่ ตอนนี้เมื่อมีการออกมาคัดค้านกันของชาวบ้านทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะยังไม่สามารถประกาศยกฐานะได้ จะต้องกลับไปสู่      ขั้นตอนการสำรวจแนวเขตร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชนในพื้นที่เพื่อความชัดเจนของแนวเขต

ด้านแกนนำชาวบ้านนำโดยนายทูลสวัสดิ์ ยอดมณีบรรพต และคนอื่นๆ ได้ร่วมกันออกความเห็น กล่าวโดยสรุปคือ ชาวบ้านวิตกว่าหากมีการประกาศยกฐานะอุทยานภูชี้ฟ้าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่มีมานาน เพราะชาวบ้านอยู่กับป่าและดูแลรักษาป่ามานาน หากเป็นอุทยานก็จะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ป่าได้ ที่สำคัญคือความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวเขตตามที่ทางอุทยานบอกว่ามีพื้นที่ 58,069.24 ไร่ แต่ชาวบ้านก็ยังกังวลว่าเขตพื้นที่ 5 หมื่นกว่าไร่นี้มันมีแนวเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ เกรงจะทับซ้อนกับที่อยู่อาศัย ที่ทำกัน และชาวบ้านยังต้องการจะกันพื้นที่ป่าไว้เป็นป่าชุมชน ตาม พรบ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 อีกปัญหาที่ตัวแทนชาวบ้านนำมาสะท้อนกับส่วนราชการคือ ภูชี้ฟ้ามีพื้นที่ติดชายแดนไทย-ลาว เกรงจะมีปัญหาในส่วนแนวเขตที่เป็นพื้นที่พิพาท หวั่นจะนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ        ถ้ามีการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า

ผู้แทนทั้งฝ่ายส่วนราชการและชาวบ้านได้สลับกันชี้แจงปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา จนในทึ่สุด           นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รอง ผวจ.เชียงราย ได้สรุปปมปัญหาที่ชาวบ้านได้นำเสนอและฝากไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหา โดยในที่ประชุมตกลงที่จะตั้งชุดทำงานเพื่อทำการเดินสำรวจแนวเขตร่วมกันใหม่อีกครั้ง     โดยมอบหมายให้ทาง กอ.รมน.เชียงราย ไปศึกษาแนวทางการทำงานและหากระบวนการคัดสรรผู้ที่จะมาร่วมสำรวจแนวเขต ซึ่งจะต้องเป็นตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนชาวบ้าน และคนกลาง เพื่อกำหนดแนวเขตอุทยานที่ชัดเจนและเขตป่าชุมชน เพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งกระบวนการคัดสรรบุคลากรและการสำรวจแนวเขตจะกำหนดให้มีขึ้นในเร็ว ๆ นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น