น่าน ปลูกป่า เฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง

น่าน ปลูกป่า เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ที่โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ห้วยลู่ตามพระราชดำริฯ ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานเปิดงานปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีนายอุทัย โล่ห์ทอง ผู้อำนวยการส่วนโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ กลุ่มพลังมวลชน และกลุ่มชนเผ่ามลาบรีบ้านห้วยลู่ ร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม้ห้วยลู่ตามพระราชดำริฯ เป็นโครงการที่ดูแลฟื้นฟูป่าต้นน้ำร่วมกับชนเผ่ามลาบรี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชนเผ่ามลาบรีให้อยู่ร่วมกับป่า ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมแต่สามารถรู้เท่าทันโลกปัจจุบัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่ครั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้เกิดเหตุไฟป่าขึ้นในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าไม่ห้วยลู่ตามพระราชดำริฯ มีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งในปัจจุบันมีการฟื้นคืนสภาพป่าต้นไม้ทดแทนให้คืนกลับมา แต่ในพื้นที่ 4 ใน 10 ไร่แห่งนี้ ชุมชนบ้านห้วยลู่ได้ขอพื้นที่ใช้ในการปลูกข้าวไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้กับชุมชน โดยได้ทำความตกลงกับทางโครงการฯ จะคืนพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าให้กลับมามีสภาพเหมือนเดิมในอนาคต

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทางสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 สาขาแพร่ ได้ ร่วมกับ จังหวัดน่าน ได้จัดทำกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ ในพื้นที่ที่เคยใช้ปลูกข้าวไร่คืนจากชุมชน ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูป่าบริเวณที่เคยโดนทำลายจากไฟป่าให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ โดยใช้พื้นที่ 4.5 ไร่ ประกอบด้วยต้นยางนา สัก และไม้อื่นๆ รวม 391 ต้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ในการนี้ ทางโครงการปลูกป่า ได้นำเชื้อเห็ด ผสมใส่ไปในกล้าไม้ ที่นำไปปลูก เพื่อให้ชุมชน ได้หาเห็ดไว้รับประทาน ทั้งนี้ เพื่อสร้างแปลงตัวอย่างปลูกป่าไม้ต้นยางนา ที่มีเชื้อเห็ดและสามารถเก็บเห็ดไว้บริโภคได้ในภายหน้า อีกทั้งยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานเครือข่ายทั้งในและนอกพื้นที่ ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น