จาก ‘จั๋นเป็ง’ สู่ ‘บริษัทคูลเมียง พิคเจอร์ส’

จาก ‘จั๋นเป็ง’ สู่ ‘บริษัทคูลเมียง พิคเจอร์ส’ Start Up คนรุ่นใหม่ ดันเพลย์ลิสต์ล้านนาสู่ POP Culture

27 ก.ย. 66 -ที่ Brick Startup Space ‘ทีมจั๋นเป๊ง PRO MAX’ นำโดย อนวรรษ พรมแจ้, สุขุม คำดีฝั้น และนฤมล คำดีฟั่น และผู้ร่วมลงทุน ได้แก่ บริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด และ บริษัท พาราไดม์ เทคโนโลยี เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เปิดตัว ‘บริษัทคูลเมียง พิคเจอร์ส’ Start Up คนรุ่นใหม่ ที่ฝากผลงานอย่าง ‘ส้มป่อย’ มุ่งดันวัฒนธรรมล้านนาที่แช่แข็ง สู่ POP Culture เปิดให้คนได้สัมผัส ‘ความเป็นเหนือ’ อย่างแท้จริง

‘โอกาส’ ที่เปลี่ยน จั๋นเป็ง pro max

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้ประกอบการสื่อรายใหม่ “Thai Media Fund Hackathon 2023” ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และทีมจั๋นเป๊ง PRO MAX โดย คุณอนวรรษ พรมแจ้, คุณสุขุม คำดีฝั้น และ คุณนฤมล คำดีฝั้น สื่อภาคเหนือ สื่อนำเสนอความสมัยใหม่ โดยการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอวัฒนธรรม เข้ามาผสมกับความเป็นสากลและคนรุ่นใหม่ “ถึงเวลาเปลี่ยนความเก่า ให้กลายเป็นความเก๋า” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับเงินลงทุนในธุรกิจมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท

คุณวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า โครงการ Thai Media Fund Hackathon 2023 มีการเตรียมงาน และรับสมัครผู้ที่สนใจในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อ โดยมีผู้ให้ความสนใจถึง 77 ทีม จากนั้นจึงคัดเลือกให้เหลือ 50 ทีม และมีการเปิดสอนหลักสูตร 3 วัน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Soft Skill, ธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งสามารถเข้าเรียนได้ในรูปแบบออนไลน์ แล้วจัดการประกวด เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 5 ทีม

“ตอนเปิดโครงการ เวลาเราเห็น Start Up ส่วนใหญ่จะเป็นสาย Tech แต่จั๋นเป็งถือเป็น medie และมีแนวคิดที่โด่นเด่น ซึ่งผลคะแนนในการประกวดตลอด 7 เดือนถือว่าค่อนข้างขาด เราก็หวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่มาเติมเต็ม และสร้าง Ecosystem นิเวศสื่อที่ดี”

ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังกล่าวว่ากองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มุ่งเน้นให้เกิดการรับรู้สื่อที่ดีผ่านการสร้างนิเวศสื่อที่มีคุณค่า การผลิตสื่อและพัฒนาที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ที่ผ่านาเราช่วยผู้ประกอบการ ทั้งการอบรบเขียนบทภาพยนตร์ การพัฒนาผู้ผลิตสื่อ ในด้านต่างๆ ร่วมกับทางเกาหลี ซึ่ง‘คูลเมียง พิคเจอร์ส’ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำความรุ่นใหม่ ของคนเหนือ มาสานต่อให้เกิดการรับรู้สื่อที่ปลอดภัยกับสังคมไทย

หน่วยงานแม่ทัพเชียงใหม่ ร่วมแรงดัน ‘คูลเมียง พิคเจอร์ส’

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดี โดยเฉพาะเมื่อพูดคุยในวงการสื่อด้วยกันพบว่ามีความน่าสนใจอย่างมาก เป็น Rising Star ในอุตสาหกรรมสื่อที่กำลังจับทางคอนเทนต์และแนวทางใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีระบบนิเวศที่พร้อมสนับสนุนการทำธุรกิจในหลายส่วน และพร้อมให้การสนับสนุนกับทุกหน่วยที่อยากจะทำให้ภาคเหนือเกิดการพัฒนาขึ้น

จุดเริ่มต้น “คูลเมียง พิคเจอร์ส”

‘จั๋นเป็ง pro max’ สำหรับคนทั่วไปเป็นเพจ Facebook ที่นำ ‘การ์ตูนแก๊ก’ ที่เน้นความตลก แทรกสอดกับมุกเมืองเหนือ ม่วนด้วยคำล้านนา กลายเป็นไวรัลในทุกกระแสที่เพจนี้ได้มาเสียดสีกระตุกสังคมได้ฉุนคิดถึงแก่นของปัญหาภายใต้ความตลกที่มีประเด็นเชิงสังคมอยู่ในทุกลายเส้น

เดิมทีหวังให้เป็น ‘ขายหัวเราะ’ ฉบับภาคเหนือ แต่ ‘ค็อป-อนวรรษ พรมแจ้’ หนึ่งในผู้ก่อนตั้ง หวังให้ไปไกลกว่านั้น นั่นคือ ‘การละลายวัฒนธรรมล้านนาที่แช่แข็ง เอาล้านนา-คำเมืองมาทำให้เป็นวัยรุ่น ชิล ๆ คูล ๆ’ จนเป็นที่มาของ “คูลเมียง พิคเจอร์ส”

“เดิมที จั๋นเป็ง pro max เราหวังให้เป็นขายหัวเราะของภาคเหนือ ทำการ์ตูนแก๊กที่ตลก ๆ เอาภาษาเหนือมาทำ เราก็เห็นยอดเอนเกจ เห้ย! มันไปต่อได้ เลยเอาคาแรตเตอร์การ์ตูนมาต่อยอดเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘ส้มป่อย’ … เพราะปกติเวลาเราเห็นการนำเสนอเมืองเหนือมันจะมี ‘ความเก่าโบราณ’ เราไม่ค่อยได้เห็น ‘ความปัจจุบัน’ ในสื่อบันเทิงภาคเหนือ ดังนั้น “คูลเมียง พิคเจอร์ส จึงมานำเสนอความเป็นปัจจุบัน ความเป็นสมัยใหม่ พูดถึงความคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น เปลี่ยน ‘ความเมือง’ เป็น ‘ความคูล!’

ย่างก้าวในอนาคตของ ‘คูลเมียง พิคเจอร์ส’
‘ดึงคนเหนือกลับมาทำงานที่บ้าน’ เป็นประโยคสุดท้ายก่อนที่ทีมข่าวจะร่ำลากลับ ถือเป็นคำพูดที่ส่งพลังบางอย่างภายใต้แววตาที่ลุ่มลึกเต็มไปด้วยความเปล่งประกายของคนรุ่นใหม่ ของการสร้างบริษัทสื่อที่เล่าเรื่องเมืองล้านนา ให้มุมมองของคนเหนือ ที่กำลังสร้างมองเมืองเหนือให้เป็นปัจจุบัน แทรกสอดวัฒนธรรมล้านนาที่จับต้องได้ ส่งผ่านภาพยนตร์ , ซีรีส์ และการ์ตูน แบบ ‘คูล ๆ’ จากคนรุ่นใหม่ เป็นอนาคตของเมืองล้านนาที่กำลังจะก้าวไป ที่ชาวเหนือเองต้องส่งกำลังใจให้ ‘คูลเมียง’ ทำให้สำเร็จ เพราะนั้นจะสร้างระบบนิเวศสื่อ คนทำงานสื่อที่ต้องจากบ้านไปไกล จะได้กลับมากินข้าวเช้าที่บ้านก่อนไปทำงาน ได้กลับมาทำงานที่บ้าน และเล่าเรื่องเมืองเหนือส่งผ่านคูลเมียง ‘อย่างคนคูล ๆ’ เปลี่ยนภาพจำของเมืองเหนือสู่ POP Culture กระแสหลักในไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น