(มีคลิป) นักวิชาการไทย-อเมริกา ระดมสมองปกป้องแม่น้ำโขง

นักวิชาการไทย-อเมริกา ระดมสมองปกป้องแม่น้ำโขง แนะนำองค์ความรู้โน้มน้าวผู้มีอำนาจ-เชื่อมต่อองค์กรระหว่างประเทศ จวก สทนช.ควรเป็นกลาง-อย่าเอนหานักพัฒนาเขื่อน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่โรงแรมอิมพิเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิล รีสอร์ท อ.เชียงแสน จ.เชียงราย Dick Custin ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย นางสาวมัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเครือข่ายนักวิชาการอนุลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นักอนุรักษ์และสื่อมวลชนประมาณ 100 คน

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการสนทนาทางวิชาการในหัวข้อ “ความหลากหลายของผู้คน องค์ความรู้และโอกาสที่เหลืออยู่ในการพัฒนาที่เป็นธรรมและยั่งยืนบนอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีแห่งการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้มุ่งมั่นเป็นแหล่งความรู้ของภูมิภาคในการส่งเสริมการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนผ่านการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การส่งเสริมงานวิจัย นวัตกรรม และความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โครงการนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมกิจกรรมระดับนานาชาติและภูมิภาคเพื่อสร้างความยั่งยืน ความยืดหยุ่นและความปลอดภัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

“คำว่าสภาพแวดล้อมไม่มีขอบเขต ในความเป็นจริง ผืนดินและแม่น้ำอาจกั้นเขตแดนทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จากมุมมองทางนิเวศวิทยา ผืนดินและแม่น้ำเชื่อมเราเข้าด้วยกัน และเรามีความต้องการและแบ่งปันร่วมกันทั่วโลก คำกล่าวนี้เป็นความจริงอย่างยิ่งสำหรับแม่น้ำโขง และด้วยบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ได้กำหนดหน้าที่ในการเป็นแหล่งความรู้ในภูมิภาคนี้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาและตามรอยพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการช่วยฟื้นฟูผืนป่า และส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน” อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าว

ศ.กิตติคุณสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าบริบทแม่น้ำโขงในท่ามกลางวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ต้องเกี่ยวข้องกับหลายประเทศเ ดังนั้นการถกกันเรื่องภูมิรัฐศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ และมีวิธีการอย่างไรในการหารือกันสร้างความเข้มแข็งในพื้นที่ด้วย เพราะการเมืองระหว่างประเทศ บางทีก็ไม่เอื้อประโยชน์ข้ามพรมแดน

“ความทุกข์ข้ามพรมแดนประชิดตัวเข้ามาทุกทีในโลกร้อนโลกเดือดใบนี้ จึงต้องมีการคุยกันให้หัวใจข้ามพรมแดน คนในภูมิภาคเดือดต้อนกันมานาน ถ้าจะถกกันคือโจทย์ระหว่างประเทศ ทำอย่างไรเรื่องน้ำโขงเข้ากับคติชน อย่าปล่อยให้เกิดการละเลยประเพณีพื้นบ้าน และต้องช่วยกันทำให้แม่น้ำโขงเป็นลุ่มน้ำสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน ตอนนี้การแก้ของฝ่ายนโยบายก็มักถูกบีบให้แก้ในสภาวะฉุกเฉิน”ศ.สุริชัย กล่าว

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ความหลากหลายของผู้คนในลุ่มน้ำโขง หากเราย้อนกลับไปดูนิทานเรื่องน้ำเต้าปู คือมนุษย์ที่เกิดมาจากน้ำเต้า แต่ละคนออกมาไม่พร้อมกัน มนุษย์คนแรกผิวคล้ำเพราะเขม่าปากน้ำเต้าสันนิฐานว่าเป็นขมุ ข่า แต่คนที่ออกต่อมาเป็นผิวสีน้ำตาลและขาวเพราะเขม่าปากน้ำเต้าหมดแล้ว นิทานนี้ทำให้เราเข้าใจบริบทความมีคนหลากหลายอยู่ร่วมกันในภูมิภาคนี้มานาน

“ความหลากหลายของผู้คนที่มาเกี่ยวข้องแม่น้ำโขงมีตั้งแต่คนเล็กคนน้อย ไปจนถึงนักธุรกิจ และยังมีธนาคารต่างๆ ความหลากหลายไม่ได้เป็นเรื่องผิวพรรณ แต่เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่กำหนดการตัดสินใจของนักการเมือง ดังนั้นเราจะละเลยคนที่เป็นตัวละครเหล่านี้ไม่ได้ เราต้องอาศัยพลังมหาศาลในการรณรงค์รักษาแม่น้ำโขง แต่นักการเมืองก็ผลักดันให้มีการสร้างเขื่อน สร้างโรงงานเพื่อผลิตแบตเตอรี่ เป็นความหลากหลายทางอำนาจ โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้สังคมได้เห็นถึงความเท่าเทียมทางอำนาจ”ดร.ชยันต์ กล่าว

ดร.ชยันต์ กล่าวอีกว่า หากพูดถึงการจัดการแม่น้ำโขง ควรพูดถึงโศกนาฎกรรมร่วมด้วย จากสมัยก่อนที่คนท้องถิ่นใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีเหตุผล แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำโขงกลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้ง มีการเขื่อน กั้นทั้งตอนบนและตอนล่าง ในฐานะนักวิชาการเราจะมีส่วนร่วมอย่างไร เราต้องคิดใหม่เกี่ยวกับการจัดการความรู้ เราไม่สามารถใช้ความรู้เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะการจัดการปัญหามีความซับซ้อน เราสามารถจัดการทรัพยากรโดยใช้ความรู้ท้องถิ่นให้สอดคล้องกับกรรมการระหว่างประเทศ

รศ.ชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรราศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเข้ามาพื้นที่ริมโขงครั้งแรกจากโครงการกก อิง น่าน ครึ่งหนึ่งของชีวิตทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการยกร่างข้อตกลงแม่น้ำโขงโดยตนอยู่ในคณะทำงานของฝ่ายไทย จึงมีโอกาสสัมผัสการทำกลไกในแง่ของนโยบายและเทคนิค โดยมีข้อวิพากษ์ข้อตกลงแม่น้ำโขงมากเพราะมีความเข้าใจไม่ครบถ้วน เช่น การพัฒนาเขื่อนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ผมยืนยันว่ากติกาของแม่น้ำโขงไม่ขี้เหร่ เพราะกติกาเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ แต่ปัญหาเกิดขึ้นตอนใช้จริงโดยผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจถ่องแท้ถึงหลักการหรือไม่ เช่น กรณีเขื่อนแบบน้ำไหลผ่านไม่ได้มีขีดความสามารถในการป้องกันน้ำท่วม เพราะไม่ได้สำรองพื้นที่เก็บกักน้ำ มีปัญหาแค่ยกระดับในช่วงปีแรก หลังจากนั้นโครงการจะต้องรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนเท่าที่กำหนดไว้ จะไม่มีเรื่องของการเก็บกัก”รศ.ชัยยุทธ กล่าว

หลังจากนั้นได้มีปาฐกถาพิเศษ โดย Dick Custin ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย กล่าวว่าสหรัฐฯสนับสนุนกิจกรรมของประชาชนและคนท้องถิ่น เรายังได้สนับสนุนการทำเวิคช็อปสถานบันที่ให้การศึกษาประชาชนในพื้นที่แม่น้ำโขง และสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อให้ทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เพื่อการจัดการยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิจัยแม่น้ำโขงเพื่อรับมือกับสถานการณ์

หลังจากนั้นได้มีการแถลงข่าว โดย ดร.ไชณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันจากคณาจารย์หลายมหาวิทยาลัยและนักวิชาการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้มีการเวิร์คช็อป 10 ครั้ง 10 ประเด็นตั้งแต่ข้อถกเถียงเรื่องเขื่อน เรื่องกฎหมาย เรื่องผู้หญิง เรื่องการรื้อเขื่อนทิ้ง ซึ่งสหรัฐฯดำเนินการไปแล้วไม่ใช่แค่เขื่อนเล็ก แต่เขื่อนใหญ่ด้วย นักวิชาการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกันโดยใช้ความรู้ข้ามศาสตร์ การร่วมมือกันของเครือข่ายกับนักวิชาการอเมริกาจะเกิดพลังทางวิชาการเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาวิกกฤตแม่น้ำโขง

ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การรวมตัวของนักวิชาการอาจตื่นต้วช้าไป จากที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนามา 60 ปี ซึ่งมีอำนาจนำ การพูดเรื่องความร่วมมือและผลกระทบมีโอกาสเหลืออยู่น้อย แต่เราพยายามไขว่คว้าว่าอนาคตข้างหน้าเราไปทางไหน และยึดอะไรเป็นตัวตั้ง จะยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง หรือให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง “นโยบายและมโนทัศน์แห่งอนาคตของแม่น้ำโขง”ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงมาก แต่การศึกษากลับชี้ไม่ได้ว่าปลาหายไปไหน และมีปลาเหลืออยู่กี่ชนิด ความหวังคือเราไม่ต้องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแม่น้ำโขง หรือไม่อยากให้สร้างเพิ่ม ทุกวันนี้แม่น้ำโขงไม่มีต้นไคร้อีกแล้ว ขณะที่แม่น้ำสาละวินยังมีต้นไคร้มากมายแต่ไม่มีใครตอบได้ว่าหายไปไหน ถือว่าเป็นความวิบัติของแม่น้ำ และการพูถึงแม่น้ำโขงก็ต้องรวมไปถึงน้ำสาขาด้วย ขณะนี้มีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน นักการเมืองแทบทุกคนในอีสานต่างตอบรับหมด อยากให้นักวิชาการทำงานขับเคลื่อนควบคู่กับประชาชน

“บทบาท สทนช.ควรอยู่ตรงกลาง ไม่ใช้ไปอยู่กับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อน ถ้าวางตัวไม่เป็นกลาง กระบวนการมีส่วนร่วมจะไม่เกิดขึ้น ผมอยากเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมมองเรื่องรักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องเข้าร่วมเพราะต้องการให้ครบกระบวนการ”นายหาญณรงค์ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น