ปภ.หารือเตรียมพร้อมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ

ปภ.หารือเตรียมพร้อมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรณีเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติ ปี 2567 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในภาวะฉุกเฉิน

วันนี้ (30 เม.ย. 67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุม 1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรณีเหตุฉุกเฉินนิวเคลียร์และรังสีระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้การฝึกบริหารวิกฤติการณ์ระดับชาติ (Crisis Management Exercise : C-MEX 24) และแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ในระดับจังหวัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ จังหวัดปราจีนบุรี หน่วยงานพลเรือน ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ระะหว่างวันที่ 11 – 14 มิถุนายน 2567 โดยมีนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยทหารและฝ่ายพลเรือน เข้าร่วมการประชุมฯ

สำหรับการประชุมฯ ในวันนี้ เป็นการหารือและกำหนดกรอบการฝึกฯ ร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของการจัดการในภาวะฉุกเฉินแบบบูรณาการ ทั้งการจำลองสถานการณ์หลักเป็นสถานการณ์อุทกภัยและสถานการณ์รองเป็นอุบัติภัยจากสารเคมี วัตถุอันตราย นิวเคลียร์และรังสี การเสริมสร้างองค์ความรู้และเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการสาธารณภัยระดับ 3 – 4 การฝึกเฉพาะหน้าที่ (Functional Exercise :FEX) การฝึกปฏิบัติ (Drill) และการสาธิตการปฏิบัติการ (Demonstration) รวมถึงวางแนวทางการประเมินผลและถอดบทเรียนการฝึกฯ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเชื่อมโยงกลไกการปฏิบัติงานของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ทุกระดับทั้งระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับปฏิบัติ รวมถึงหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีศักยภาพในการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การฝึกดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยกระดับการเตรียมความพร้อมและตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศแล้ว ยังตอบโจทย์การพัฒนามาตรฐานในการจัดการภาวะฉุกเฉินอย่างมีเอกภาพ ภายใต้รูปแบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันผ่านระบบบัญชาการเหตุการณ์ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือทันต่อสถานการณ์และลดผลกระทบจากสาธารณภัยให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นการขับเคลื่อนแผนการป้องกันสาธารภัยแห่งชาติ พ.ศ.2564 – 2570 ไปสู่การปฏิบัติอย่างรูปธรรม

ร่วมแสดงความคิดเห็น