กรมทรัพยากรธรณี จัดงานครบรอบ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาวฯ”

กรมทรัพยากรธรณี จัดงานครบรอบ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว : บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 น. เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ดงมะตะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย เหตุการณ์ครั้งนั้น สร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือนประชาชนกว่า 10,000 หลังคาเรือน ศาสนสถานต่างๆ โรงเรียน ถนนเกิดรอยแยกเป็นทางยาวหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และอาคารสูงในกรุงเทพมหานคร สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับจังหวัดเชียงราย จัดงานประชุมสัมมนา เรื่อง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว : บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหว สู่องค์ความรู้ในการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วน ไปสู่การขับเคลื่อนการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมงานประชุมประกอบด้วย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และประชาชนในจังหวัดเชียงรายกว่า 350 คน Iณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย รูปแบบการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย การเสวนาถอดบทเรียน ในหัวข้อ “ถอดบทเรียน 10 ปี แผ่นดินไหวเชียงราย สู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการป้องกันและลดผลกระทบจากพิบัติภัยธรรมชาติ” โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านแผ่นดินไหว การบรรยายพิเศษ “บทบาทของสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่ายเยาวชน ในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” และ การอภิปรายเรื่อง “บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” ภายในงานจะมีนิทรรศการองค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย

นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ประชาชน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแจ้งเตือนภัย เร่งติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว จัดทำแผนที่แสดงจุดปลอดภัยและซักซ้อมแผนอพยพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“กรมทรัพยากรธรณี ได้นำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรณีพิบัติภัยมาใช้เพื่อลดความสูญเสีย และลดผลกระทบต่อชุมชน บนหลักการ “อยู่ในพื้นที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย อยู่อย่างไร ให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยถ่ายทอดสู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้อาศัยอยู่อย่างมั่นใจและปลอดภัย เสริมสร้างศักยภาพของภาคีเครือข่ายและชุมชนให้พร้อมรับมือธรณีพิบัติภัย และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อประสบภัย รวมถึงประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตเมืองที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว และประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สูงที่เสี่ยงต่อการดินถล่ม จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวทางประสบการณ์การดำเนินชีวิตได้รับรู้วิธีการอยู่อาศัยที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย สามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวัน และมีศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยได้อย่างมีสติ” นายพิชิต อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าว

ประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อนมีพลังทั้งหมด 16 กลุ่มรอยเลื่อนกระจายในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ พาดผ่าน 23 จังหวัด โดยรอยเลื่อนมีพลังที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่ประชาชนรู้สึกได้อยู่ในภาคเหนือ เช่น กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน กลุ่มรอยเลื่อนแม่ลาว กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา กลุ่มรอยเลื่อนเถิน กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง กลุ่มรอยเลื่อนเวียงแหง กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน กลุ่มรอยเลื่อนเมย กลุ่มรอยเลื่อนปัว กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ภาคตะวันตก อาทิ กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และภาคใต้ ประกอบด้วย กลุ่มรอยเลื่อนระนอง และกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจธรณีพิบัติภัยแผ่นดินไหว โดยการสำรวจศึกษา ติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว เพื่อติดตามประเมินผลกระทบแผ่นดินไหว ตามรอยเลื่อนที่ซ่อนตัว จัดทำแผนที่แสดงภัยพิบัติแผ่นดินไหว แผนที่แสดงจุดปลอดภัยสำหรับเป็นจุดรวมพลชั่วคราวและการอพยพกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว จัดทำแผนการซักช้อมอพยพภัยแผ่นดินไหว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ เผยแพร่แผนที่ มาตรการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน แนะนำข้อปฏิบัติให้ประชาชนเตรียมรับมือแผ่นดินไหว เพื่อความปลอดภัย และลดความตระหนกให้เกิดความสบายใจในการอยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยง

กรมทรัพยากรธรณี มีแผนการดำเนินงานต่อไปในอนาคต โดยเร่งดำเนินการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการประเมินสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยของประเทศ เช่น ศึกษารอยเลื่อนมีพลัง รอยเลื่อนที่ซ่อนตัว จัดทำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่แม่นยำ นำไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการอพยพหลบภัย และการออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหวตามหลักวิชาการ เน้นการศึกษา วิจัยธรณีพิบัติภัยเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ในการประเมินสถานการณ์แผ่นดินถล่ม เพื่อการเฝ้าระวังเตือนภัยและทันท่วงที และสร้างภาคีเครือข่ายประชาชน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ซักซ้อมการรับมือธรณีพิบัติภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศในทุกภัย ในรูปแบบ “อาสาสมัครพิทักษ์ธรณี รู้วิธีพิชิตธรณีพิบัติภัย เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างยั่งยืน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น