“สองล้อ” เดินหน้าต่อเนื่องจัดอบรม “ผู้ตัดสิน-ผู้ฝึกสอน-ช่าง” ปี 2567

“สองล้อ” เดินหน้าพัฒนาบุคลากรต่อเนื่องจัดอบรม “ผู้ตัดสิน-ผู้ฝึกสอน-ช่าง” ปี 2567 “เสธ.หมึก” มั่นใจช่วยพัฒนาวงการจักรยาน

“สองล้อ” เร่งพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยจัดการอบรมผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน และช่างซ่อมจักรยาน ประจำปี 2567 รวมทั้งหมด 5 หลักสูตร ตามแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่วางเอาไว้อย่างเป็นระบบ นอกเหนือจากการพัฒนานักกีฬาให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ และการเป็นนักกีฬาอาชีพ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ), กองพัฒนาบุคคลกรกีฬา ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ด้าน “เสธ.หมึก” มั่นใจผู้ที่ผ่านการอบรมทุกโครงการจะนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาวงการกีฬาจักรยานของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี ประธานสหพันธ์จักรยานแห่งอาเซียน (เอซีเอฟ) และนายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เดินหน้าพัฒนาบุคลากรตามแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ ที่มีการพัฒนาบุคลากรด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บุคลากรทั้งผู้ฝึกสอน, ผู้ตัดสิน และช่างซ่อมจักรยาน มีการพัฒนาทักษะที่สูงขึ้น สามารถพัฒนาวงการกีฬาจักรยานของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นระบบ สำหรับปี 2567 นี้ สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีโครงการจัดอบรมถึง 5 หลักสูตรด้วยกัน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ สหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ), กองพัฒนาบุคคลกรกีฬา ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

พลเอกเดชา กล่าวว่า สำหรับการอบรมที่สมาคมกีฬาจักรยานฯ จัดขึ้น 2 หลักสูตรแรก ซึ่งสมาคมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองพัฒนาบุคคลกรกีฬา ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ กกท. ทั้ง 2 หลักสูตร ประกอบด้วย การอบรมพัฒนาผู้ตัดสินกีฬาจักรยานประเภทลู่ ระดับชาติขั้นพื้นฐาน หลักสูตร “National Basic Track Commissaire” ระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมวาสิฎฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยวิทยากรที่จะมาให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้แก่ มร.เฟรเดอริค ชาน ผู้ตัดสินมากประสบการณ์ชาวฮ่องกง ซึ่งหลักสูตรนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ตัดสินระดับฝึกหัดของสมาคมฯ จำนวน 15 คน เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้สูงขึ้น และมีการพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ตัดสินชั้น 3, ชั้น 2, ชั้น 1 และระดับ Elite ที่สามารถทำหน้าที่ผู้ตัดสินในรายการที่สมาคมฯ จัดการแข่งขันทั้งในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย และระดับนานาชาติ จากนั้นจะเป็นการอบรมพัฒนาช่างซ่อมจักรยานประเภทเสือภูเขา ระดับชาติขั้นพื้นฐาน หลักสูตร “National Basic MTB Mechanic Course” ระหว่างวันที่ 14-16 มิถุนายน ที่โรงแรมวาสิฎฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี

นายกสองล้อไทย กล่าวต่อไปว่า ส่วนหลักสูตรที่ 3 สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะจัดการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนระดับนานาชาติ หลักสูตร “UCI Coaching Course Level 2” ระหว่างวันที่ 3-9 กรกฎาคม ที่โรงแรมวาสิฎฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสมาคมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ส่วนวิทยากรผู้ให้ความรู้ในการอบรมทางยูซีไอจะแจ้งชื่อมาในภายหลัง ซึ่งผู้ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรนี้สมาคมฯ จะเปิดโอกาสให้นักปั่นทีมชาติไทย ที่รับใช้ชาติมาอย่างยาวนาน และมีเป้าหมายที่จะก้าวไปเป็นผู้ฝึกสอนต่อไปในอนาคต เช่น “บีซ” ร.อ.หญิง จุฑาธิป มณีพันธุ์, “มะตูม” พ.อ.อ.พีระพล ชาวเชียงขวาง, “โดด” ส.อ.กีรติ สุขประสาท, “ไก่” ส.อ.หญิง ศุภักษร นันตะนะ, “บาส” พ.อ.อ.ภุชงค์ ซ้ายอุดมศิลป์ รวมทั้งผู้ฝึกสอนจากสโมสรสมาชิกของสมาคมฯ ที่ผ่านการอบรม Level 1 มาแล้ว

“เสธ.หมึก” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้สมาคมฯ ก็ได้จัดการอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนกีฬาจักรยานอาชีพประเภทถนน ระดับนานาชาติ หลักสูตร “National Basic Road Coaching Course” ระหว่างวันที่ 8-13 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมวาสิฎฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสมาคมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย กกท. ซึ่งหลักสูตรนี้ก็จะเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ฝึกสอนที่อยู่ในสังกัดสโมสรสมาชิกของสมาคมฯ เข้ารับการอบรม รวมถึงนักกีฬาทีมชาติบางคน อาทิ “แพร” ส.อ.หญิง เพชรดารินทร์ สมราช เป็นต้น และการอบรมรมหลักสูตรสุดท้ายคือการจัดอบรมพัฒนาผู้ฝึกสอนกีฬาจักรยาน หลักสูตร “National Basic Coaching Course” ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน ที่โรงแรมวาสิฎฐี ซิตี้ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสมาคมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

“นอกเหนือจากการพัฒนานักกีฬาให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศ และการเป็นนักกีฬาอาชีพ สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย ทั้งผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน และช่างซ่อมจักรยาน นี่คือแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรของสมาคมกีฬาจักรยานฯ ที่วางเอาไว้อย่างเป็นระบบ ขอขอบคุณกองพัฒนาบุคคลกรกีฬา ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ, สำนักงานคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ รวมถึงสหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ ยูซีไอ ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการอบรมโครงการต่าง ๆ ซึ่งสมาคมฯ มั่นใจว่าผู้ที่ผ่านการอบรมทุกโครงการจะนำความรู้ความสามารถไปพัฒนาวงการกีฬาจักรยานของไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต” พลเอกเดชา กล่าวในตอนท้าย.

ร่วมแสดงความคิดเห็น