เชียงใหม่ ชลประทานเปิดศูนย์จัดอำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง

สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดศูนย์จัดอำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำตลอดลำน้ำแม่ปิงเชียงใหม่-ลำพูน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำ เปิดสถิติย้อนหลัง 60 ปีพบแล้งจัดเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2522 และเตรียมแก้มลิงสำรองน้ำไว้แล้ว 10 แห่ง

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานเปิด ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ แก้ไขและบรรเทาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2562/63 ในเขตจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน สำนักงานชลประทานที่ 1 เพื่อเป็นจุดรับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำของเกษตรกรที่ใช้น้ำปิง โดยมี นายศรัณยู มีทองคำ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วย นายอำเภอจอมทอง นายอำเภอดอยหล่อ นายอำเภอเมืองลำพูน นายอำเภอป่าซาง นายอำเภอบ้านโฮ่ง นายอำเภอเวียงหนองล่อง รวมถึง ปภ.จังหวัดลำพูน นายกเทศมนตรีในพื้นที่จังหวัดลำพูน ผู้แทนส่วนราชการ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำ และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วม ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำ แห่งที่ 5 (ฝายวังปาน) จังหวัดลำพูน

การเปิดศูนย์ฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ให้ทุกฝ่ายได้ทราบถึงสถานการณ์น้ำ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แจ้งปัญหาความเดือดร้อน รวมทั้งสามารถขอคำปรึกษา ปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างรวดเร็ว แก้ไขและป้องกันปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำ โดยจะบริหารจัดการน้ำช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 โดยศูนย์ฯ ทั้ง 6 แห่ง ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2562/63 บรรลุผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ฯ ที่ 1 ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่, ศูนย์ฯ ที่ 2 ฝายแม่ปิงเก่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์ฯ ที่ 3 ฝายหนองสลีก ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน, ศูนย์ฯ ที่ 4 ประตูระบายน้ำดอยน้อย ตั้งอยู่หมู่ 11 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่, ศูนย์ฯ ที่ 5 ฝายวังปาน ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน และศูนย์ฯ ที่ 6 ประตูระบายน้ำแม่สอย ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศูนย์ฯ ทั้งหมด 6 แห่งนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นทางจังหวัดเชียงใหม่ ยาวมาตามเส้นทางลำน้ำแม่ปิง เรียกว่าดูแลตลอดลำน้ำแม่ปิงทั้งสายทั้งเชียงใหม่ – ลำพูน

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำน้ำจากแหล่งน้ำแห่งเดียวที่มีอยู่ คือ น้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มาบริหารจัดการ โดยในปีนี้ กรมชลประทานได้ตรวจสอบสถิติปริมาณน้ำฝนทั่วประเทศย้อนหลังในรอบ 60 ปี พบว่า ปี 2562 จัดเป็นปีที่แล้งที่สุดอันดับ 2 รองจากปี 2522 และแล้งกว่าปี 2558 ที่ผ่านมา แต่ในปี 2562 นี้ ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนแม่งัดฯ มีมากกว่าปี 2558 ดังนั้น ในฤดูแล้งปีนี้ ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ควรจะบริหารจัดการน้ำ แบ่งปันน้ำ ประหยัดการใช้น้ำ ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เคยปฏิบัติในปี 2558 เพื่อให้ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติไปได้

นอกจากนี้จากข้อมูลสภาพฝนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปริมาณฝนปี 2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนสะสม 949 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยน 18 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่จังหวัดลำพูน ปริมาณฝนปี 2562 ที่ผ่านมา มีปริมาณฝนสะสม 928 มม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 17 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์น้ำในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำ 150.208 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56.68 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา มีปริมาณน้ำ 75.11 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28.56 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 16 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 162 แห่ง ปริมาณน้ำรวม 46 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์

แผนการเพาะปลูกพืช ปี 2562/63 ในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ – ลำพูน มีแผนปลูกจำนวน 149,986 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 13,962 ไร่, พืชไร่ 12,004 ไร่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 123,889 ไร่ บ่อปลา 131 ไร่

การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะมีการส่งน้ำสำหรับกิจกรรมการอุปโภคบริโภค (ผลิตประปา) และการเกษตร (เฉพาะพื้นที่ปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้น) ในปริมาณรวม 19 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อย เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล วางแผนส่งน้ำปริมาณ 115 ล้าน ลบ.ม. ให้พื้นที่ 2 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ของโครงการฯ 45 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำปิงตอนบนในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 70 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งน้ำตามแผน 25 รอบเวร เริ่มรอบแรกวันที่ 9 ม.ค. 2563 – 1 ก.ค. 2563 รวมระยะเวลาส่งน้ำ 6 เดือน และการจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนดากลาง วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนของแต่ละโครงการ (บริการจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว)

นอกจากนี้ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ 75 เครื่อง, รถสูบน้ำ 2 คัน, รถบรรทุกน้ำ 16 คัน, รถขุด 5 คัน, รถบรรทุก 25 คัน, รถแทรกเตอร์ 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ 11 หน่วยงาน เพื่อเตรียมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย และส่งเจ้าหน้าที่ออกประชาสัมพันธ์และชี้แจงข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ผ่านทางช่องทางต่าง ๆ ทั้งการประชุมกับกลุ่มผุ้ใช้น้ำ หน่วยราชการ องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ และแจ้งผ่านทางเว็บไซต์หน่วยงาน และมีการเตรียมแหล่งน้ำสำรอง เพื่อช่วยเหลือในกรณีที่ประสบภาวะวิกฤติภัยแล้งไว้แล้ว เป็นโครงการแก้มลิงที่อยู่ในเขตพื้นที่โครงการฯ แม่แตง เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรอง จำนวน 10 แห่ง ความจุเก็บกักรวม 5.296 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันได้ผันน้ำไปแล้วปริมาณ 2.646 ล้าน ลบ.ม. ประมาณร้อยละ 50 ของความจุเก็บกัก

ร่วมแสดงความคิดเห็น