เปิดประวัติ “ครูบาบุญชุ่ม” เกจิดัง สู่ศรัทธาแห่งล้านนา

ครูบาบุญชุ่ม เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 ม.ค. 2508 เวลา 09.00 น. ที่หมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรคนโตของนายคำหล้าและนางแสงหล้า ทาแกง แม้ครอบครัวจะยากจนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่โยมมารดาก็ปลูกฝังท่านให้ทำบุญ สวดมนต์ ทำสมาธิอยู่เสมอ ทำให้ท่านสนใจออกบวช

หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2519 ขณะอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี 2526 ต่อมาได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2529 เวลา 9.19 น. ณ อุโบสถวัดพระเจ้าเก้าตื้อ (ปัจจุบันรวมกับวัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่)) โดยมีพระราชพรหมาจารย์ (ดวงคำ ธมฺมทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเวฬุวันพิทักษ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูศรีปริยัตินุรักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ระหว่างบรรพชามีหลวงพ่อธุดงค์องค์หนึ่งอยู่อำเภอจุน จ.พะเยา ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบให้พระครูบาเจ้าฯ เมื่อท่านได้รับพระบรมสารีริกธาตุมาแล้ว ได้น้อมจิตพิจารณาว่า กระดูกของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น นับตั้งแต่เวียนว่าย ตายเกิด ในวัฏฏสงสารนี้ หากนำมากองรวมกัน คงกองใหญ่เป็นภูเขาทีเดียว หากแยกกันก็กระจัดกระจายอย่างที่เห็น กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกเข่าไปอีกทางหนึ่ง กระดูกข้อเท้าไปทางอื่น กระดูกข้อนิ้วเท้าก็กระจัดกระจายไปทางอื่น กระดูกทุกส่วนแยกออกจากกันไปคนละที่คนละแห่ง แล้วก็ผุพังกลายเป็นดินเป็นจุลไป ท่านก็น้อมพิจารณาเข้ามาในกายแห่งตนว่า “เอวงฺธมฺโม เอวงฺอนตฺติโต” จากนั้นท่านจึงไปจำศีลภาวนาแล้วสร้างพระธาตุขึ้น ชื่อว่าพระธาตุงำเมือง ดอยท้าววัง นั่งเรือไปๆมาๆอยู่ที่เมืองพงนี้เหมือนบ้านเกิด คิดว่าในอดีตชาติคงเคยสร้างบารมีในที่นี้ หลังจากได้สร้าง พระธาตุบ้านป่าข่า พระธาตุงำเมืองเสร็จแล้ว ท่านได้เดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าไปเมืองยอง ไปกราบพระธาตุหลวงจอมยอง กลับมาป่วยเป็นไข้มาเลเรียเกือบตาย แล้วท่านได้มาเข้าพรรษาที่วัดทุ่งหลวง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยมีหลวงปู่ครูบาเจ้าธรรมชัยเป็นองค์รักษาไข้ คุณแม่ก็มาเยี่ยมเยียนตลอดโดยให้น้องชายบวชเณรอยู่ด้วย

ในพรรษาที่ 5 ท่านได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดจอมแจ้ง บ้านกาดขี้เหล็ก ต.แม่โป่ง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยมีคุณแม่ย่าคำแปง คุณธนิต นิ่มพันธ์ คุณตุ๊ คุณสมศักดิ์ คุณอุไร และเจ้าพ่อน้อยโสภณ ณ เชียงใหม่ และญาติโยมหลายๆคนเป็นผู้อุปัฏฐากดูแล ในพรรษาโยมแม่ก็มาเยี่ยมถือศีลด้วยบางครั้งบางคราว ท่านไปสร้าง พระธาตุจอมศรีดับเภมุงเมือง ต.เมืองพง พม่า และมาสร้างวัดพระเจ้าล้านทอง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ คุณแม่ก็ตามไปเยี่ยมร่วมทำบุญทุกที่ พรรษานี้ท่านอยากมาจำพรรษาที่เมืองพง แม่ย่าคำแปงให้จับฉลาก 2-3 ครั้ง ก็จับได้ที่วัดจอมแจ้งที่เดิม ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่วัดจอมแจ้งอีกในปีนี้ ท่านมีความสุขอิ่มเอมในพระธรรม อยู่กุฏิวิเวกองค์เดียว ได้อารมณ์กัมมัฏฐานดีมาก เดินจงกรมก็สบาย มีสมาธิตั้งมั่น ทั้งนี้ในช่วงบรรพชาเป็นสามเณร ได้ไปจำพรรษาแสวงบุญที่อินเดีย เมียนมา เนปาล ป่าหิมพานต์ ผ่านการสร้างและบูรณะพระธาตุต่างๆ และชดใช้วิบากกรรมในอดีตชาติ จากนั้นจึงอุปสมบท ใน ปี พ.ศ.2529 และมีโอกาสไปจำพรรษาที่ประเทศภูฏาน โดยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2548 สมเด็จพระราชินีภูฏานร่วมกับพระราชวงศ์ จัดงานอายุวัฒนะมงคลถวายพระครูบาเจ้าฯ เพื่อเป็นมุทิตาจิตสักการะต่อวัตรปฏิบัติที่งดงามของพระครูบาเจ้าฯตลอดมา

อนึ่ง พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร เดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 17 มีนาคม 2548 หลังจากนั้นท่านได้เมตตาให้โอกาสลูกศิษย์กราบเยี่ยมสักการะและพระครูบาเจ้าฯ ได้เดินทางต่างจังหวัดเพื่อสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนเมตตาลูกศิษย์ตามสถานที่แห่งนั้นๆ รวมถึงลูกศิษย์ที่ประเทศไต้หวันด้วย ในช่วงวันที่ 29 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2548 พระครูบาเจ้าฯ ได้ไปยังเมืองเฉินตู ประเทศจีน และทิเบต เพื่อเยี่ยมชมสถานที่และพระพุทะรูปสำคัญๆ และในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ศิษยานุศิษย์ปลาบปลื้มในความเสียสละของพระครูบาเจ้าฯอย่างมาก เมื่อพระครูบาเจ้าฯเลือกจำพรรษา ณ ถ้ำผาแดง บ้านล่อม ต.สันทราย อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพระครูบาเจ้าเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เงียบสงบและใกล้ๆถ้ำยังมีชาวเขาถึง 6 หมู่บ้าน ที่พระครูบาเจ้าฯยังเมตตาได้ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2548 คณะศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดงานแแกพรรษาถวาย ณ บริเวณหน้าถ้ำ มีการตั้งโรงทาน แจกเสื้อกันหนาว ผ้าห่ม อาหารแห้ง ตุ่มใส่น้ำตลอดจนปัจจัย ให้กับทุกครอบครัว และยังได้รับพรกันอย่างทั่วถึง

นับแต่ออกบวช ครูบาบุญชุ่มมุ่งเน้นเรียนกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ได้จาริกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือของไทย พม่า เนปาล อินเดีย ภูฏาน ฯลฯ เมื่อพบเห็นวัดใดทรุดโทรมก็เป็นผู้นำในการบูรณะ และได้สร้างพระธาตุเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ไว้หลายแห่งในภาคเหนือ รัฐชาน สิบสองปันนา และประเทศลาว

ที่มา หนังสือ ๓๐ พรรษาในร่มเงาพระพุทธศาสนา ของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร

ร่วมแสดงความคิดเห็น