กระทรวงพลังงาน เป็นเจ้าภาพในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานสมัยพิเศษและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Special Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings: Special SOME) ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2563 ณ โรงแรมแชงกรีล่า จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 21-22 มกราคม 2563 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงานสมัยพิเศษและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (ASEAN Special Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings: Special SOME) ณ โรงแรมแชงกรี-ลา จังหวัดเชียงใหม่ โดยกระทรวงพลังงานของไทย เป็นเจ้าภาพ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนงานกิจกรรมความร่วมมือด้านพลังงานตามที่ได้มีมติไว้ในช่วงการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน เมื่อวันที่ 24-28 มิถุนายน 2562 และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2-6 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา โดยมีมีแนวทางหลัก (Theme) คือ “Advancing energy Transition through partnership and innovation” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แน่นแฟ้น การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าช่วงเวลาของยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่เปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในอนาคต
 

ทั้งนี้ มีผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุม ASEAN Special SOME ในครั้งนี้ มีจำนวนประมาณกว่า 100 คน โดยมีทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงอาเซียน (ASEAN SOE Leader) และผู้แทนประเทศสมาชิก จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม และองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ศูนย์พลังงานอาเซียน องค์กรคณะมนตรีด้านปิโตรเลียมของอาเซียน (ASEAN Council on Petroleum: ASCOPE) และ องค์กรทางด้านกิจการไฟฟ้าของอาเซียน (Heads of ASEAN Power Utilities/Authorities: HAPUA)    


ที่ประชุม ASEAN Special SOME ในครั้งนี้ ได้มีการหารือและตัดสินใจเชิงนโยบายความร่วมมือพลังงานระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนในประเด็น 7 สาขาด้านพลังงาน และ 1 เครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) การผลักดันและกำหนดแผนงานกิจกรรมความร่วมมือเกี่ยวกับการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) โดยการขยายให้มีการซื้อขายไฟฟ้าในระดับอนุภูมิภาคมากขึ้นและการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเข้ามาในการภาคพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น 2) การพัฒนาตลาดร่วมก๊าซ LNG ในอาเซียนเพื่อเสริมความมั่นคงทางพลังงาน โดยดำเนินการภายใต้แผนงานการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซธรรมชาติอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) 3) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด (Clean Coal Technology) เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน 4) การกำหนดแผนงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคคลากรของประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า (Nuclear Energy Cooperation) 5) การร่วมกันกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ในภูมิภาคอาเซียนที่ท้าทายมากขึ้น 6) การร่วมกันกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency and Conservation) 7) การร่วมมือด้านนโยบายและแผนพลังงานในภูมิภาค (Regional Energy Policy and Planning: REPP) เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและพันธมิตรเครือข่ายพลังงานในระดับโลก รวมถึงการเพิ่มบทบาทความร่วมมือเครือข่ายการกำกับกิจการพลังงานในอาเซียน (ASEAN Energy Regulatory Network: AERN)

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลสำเร็จของไทยในฐานะการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 ที่ผ่านมา ที่ได้ดำเนินการผลักดันความร่วมมือประเด็นสำคัญด้านพลังงาน (Key Deliverables) ในกรอบอาเซียน อาทิ

1.ด้านไฟฟ้า ประกอบด้วย การส่งเสริมขยายการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคี (LTMS-PIP phase 1) เพื่อขยายเพดานปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าให้เพิ่มมากขึ้น การจัดทำรายงานศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีในอาเซียนให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น และการจัดทำข้อเสนอแนะด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในโครงข่ายอาเซียน (RE Integration to grid) ร่วมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีอาเซียน โดยประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียนที่สามารถเชื่อมโยงการซื้อขายไฟฟ้าได้ครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในประเทศอาเซียนในอนาคต

2.ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นในตลาดอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน การจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (Lab Test) สำหรับทดสอบประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศในครัวเรือน และการศึกษามาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน

3.ด้านพลังงานทดแทนประกอบด้วย การลงนาม MOU ระหว่าง ศูนย์พลังงานอาเซียน และสถาบันพันธมิตรของอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพอาเซียน และการรายงานกรณีศึกษาห่วงโซ่อุปทานพลังงานชีวมวลสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ของไทย เพื่อนำไปขยายผลปรับใช้ในพื้นที่ที่มีลักษณะเดียวกันในอาเซียน

4.ด้านก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำข้อเสนอแนะเรื่อง การศึกษาโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กเพื่อรองรับก๊าซธรรมชาติ (Small-scale LNG) ภายใต้ผลการศึกษา Gas Advocacy White Paper

นอกจากนี้ ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์พลังงานอาเซียน (ACE Governing Council) เพื่อร่วมกำหนดแนวทางแผนงานการดำเนินงานของศูนย์พลังงานอาเซียน ทั้งด้านแผนงาน แผนเงิน และแผนบุคลากร เพื่อให้สามารถดำเนินงานในปี 2020 ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่ออาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ ได้มีการจัดประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) ซึ่งทั้งสี่ประเทศได้มีการหารือประเด็นการขยายความร่วมมือการซื้อขายไฟฟ้ากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยในฐานะที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาค ก็มีความพร้อมที่ในการเป็นจุดเชื่อมโยงทางพลังงานของภูมิภาค (Regional Energy Connector) ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น