พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ กองบิน 41

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 นาวาอากาศเอก ฐาปนา ม่วงน้อยเจริญ รองผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมด้วยข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานราชการ สมาชิกแม่บ้านทหารอากาศ กองบิน 41 และครอบครัว ร่วมทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกองทัพอากาศ ดอนเมือง มาประดิษฐานเพื่อให้ข้าราชการ ครอบครัว และประชาชนทั่วไปได้ร่วมสักการะ ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน 41

ทั้งนี้ กองทัพอากาศ ได้จัดสร้างพระพุทธศาสดาประชานาถในโอกาสครบรอบ 100 ปี การทิวงคต จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดาแห่งกองทัพอากาศ โดยสมเด็จอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานนาม “พระพุทธศาสดาประชานารถ” และประทานแผ่นทอง เงิน นาก พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ แด่พระพุทธรูปที่กองทัพอากาศจัดสร้าง และจะนำไปประดิษฐาน ณ สถานีรายงานดอยอินทนนท์ ต่อไปนั้น กองบิน 41 จึงได้จัดให้มีพิธีสวดมนต์บูชาพระบรมสารีริกธาตุ ในวันที่ 23-24 มกราคม 2563 และ 27-30 มกราคม 2563 ตั้งแต่เวลา 17.00-17.30 น. (เว้นวันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 เริ่มเวลา 08.00-08.30 น.) และจะมีพิธีมหาพุทธาภิเษก “พระพุทธศาสดาประชานารถ” ในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ณ บริเวณจุดชมวิว สถานีรายงานดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการนิมนต์พระมหาเถระนั่งปรก จำนวน 9 รูป จากวัดชื่อดังต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน และผู้บัญชาการทหารอากาศ จะมาเป็นประธานในพิธีมหาพุทธาภิเษกด้วย

พระพุทธศาสดาประชานาถ มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศาสดาผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน” เป็นพระพุทธรูปที่ประกอบด้วยศิลปะที่สำคัญ ได้แก่ ศิลปะหริภุญชัย กลุ่มพุทธศิลป์ในลุ่มน้ำปิง ซึ่งมีลักษณะการสร้างพระพุทธรูป ประดับด้วยเทริด อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างพระพุทธศาสดาประชานถ ศิลปะเชียงแสน พระพุทธรูปเป็นแบบปางสมาธิแบบขัดสมาธิเพชร ซึ่งปรากฏในพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน พระพักตร์อิ่มเอิบ พระหนุเป็นปม แสดงถึงความเมตตา อ่อนโยน และนุ่มนวล ศิลปะสุโขทัย ปรากฏในพระวรกายซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย สมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) อันเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัย ศิลปะอยุธยา ประกอบด้วยกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด และทองกร เครื่องทรงจักรพรรดิ ศิลปะอยุธยา หมายถึงการเทิดทูนสและจงรักภักดี สถาบันพระมหากษัตริย์
ศิลปะรัตนโกสินทร์ ปรากฏในการสร้างฐานพระพุทธรูป บริเวณผ้าทิพย์ประดับตรากองทัพอากาศ สื่อความหมาย กองทัพอากาศเทิดทูนและรักษาซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

องค์ประธานเป็นพระพุทธรูปเนื้อทศโลหะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่มีการสร้างพระพุทธรูปเนื้อ นวโลหะ หลอมรวมกับไทเทเนียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีความแข็งแรงทนทานสูง น้ำหนักเบา และเป็นโลหะที่นิยมใช้กับโครงสร้างอากาศยาน นอกจากนี้การจัดสร้างพระพุทธศาสดาประชานาถ ทั้งองค์พระประธาน และองค์สำหรับบูชาทั้งหมดจะมีส่วนประกอบของเนื้อทองเหลืองจากปลอกกระสุนปืนอากาศ ที่ติดตั้งปฏิบัติภารกิจผ่านความเร็วเหนือเสียงกับเครื่องบินขับไล่สมรรถนะสูงของกองทัพอากาศมาแล้วทั้งสิ้น จึงนับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สำคัญองค์หนึ่งในพุทธศตวรรษที่ 26

ร่วมแสดงความคิดเห็น