(มีคลิป) ชาวเชียงใหม่แห่ชมปรากฏการณ์ซุปเปอร์ฟูลมูนคึกคัก

ชาวเชียงใหม่แห่ชมปรากฏการณ์ซุปเปอร์ฟูลมูนคึกคัก ด้าน สดร.จัดกิจกรรมต้อนรับ พร้อมเขียนคำอธิษฐานขอพรจากพระจันทร์

ช่วงค่ำวันนี้ ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ พาเข้าร่วมชมความสวยงามของปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. ได้นำกล้องโทรทรรศน์หลายขนาดกว่า 6 ตัว พร้อมกับเปิดให้ชมกล้องกล้องโทรทรรศน์เลนส์กระจกขนาด 0.7 เมตร มาให้กับผู้ที่สนใจได้ชมดวงจันทร์กันอย่างจุใจ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมแสดงดนตรี และ Special Talk “เรื่องมหัศจรรย์ดวงจันทร์ของโลก” เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดวงจันทร์ให้กับผู้ร่วมกิจกรรม รวมทั้งจัดต้นไผ่ให้เขียนคำอธิษฐานกับดวงจันทร์ แขวนไว้กับกิ่งไผ่ ซึ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นเทศกาลดวงดาวเทศกาลทานาบาตะ เป็นตำนานเรื่องราวความรักระหว่างสาวเย็บผ้ากับหนุ่มเลี้ยงวัวซึ่งชาวญี่ปุ่นจะใช้โอกาสนี้เขียนคำอธิฐานขอพรกับดวงจันทร์

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าในช่วงค่ำวันนี้สภาพอากาศจะไม่เป็นใจโดยมีเมฆปกคลุมเต็มท้องฟ้าตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่ำทำให้ในเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า 18:37 น. ยังมองไม่เห็นดวงจันทร์แต่อย่างใด แต่หลายคนก็ไม่เสียใจเพราะว่าอย่างน้อยก็ได้พาเด็กเด็กมาร่วมกิจกรรมและได้เห็นและสัมผัสกับกล้องโทรทัศน์ดูดาวสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเด็กเด็กไม่น้อย

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในวันนี้ วันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 ตรงกับวันอาสาฬหบูชา ดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างจากโลก 357,256 กิโลเมตร เวลาประมาณ 16:09 น. และ จะปรากฏเต็มดวงในคืนนี้ช่วงหลังเที่ยงคืน ตรงกับเวลา 01:39 น. ของวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เกิดเป็นปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และสว่างกว่าประมาณ 16% ในคืนนี้จึงเหมาะแก่การสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นอย่างยิ่ง โดยดวงจันทร์จะโผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.37 น. สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

นอกจากที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จ.เชียงใหม่ สดร.ยังจัดจุดสังเกตการณ์อีก 3 แห่ง คือ หอดูดาว เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สงขลา และ ยังร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ 560 แห่งทั่วประเทศ ตั้งกล้องโทรทรรศน์ และจัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ในครั้งนี้ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น