ส่องกฎหมาย DPS ก้าวแรกของการสร้างความปลอดภัยให้ธุรกิจออนไลน์

ในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์หมด ไม่เว้นแม้แต่การทำธุรกิจซื้อขายและบริการต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันทั้งผู้ซื้อและผู้ขายหรือผู้ให้บริการบนระบบออนไลน์ ต้องเผชิญกับอาชญากรรมไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่งผลร้ายต่อผู้ใช้ได้

ในปี พ.ศ. 2566 นี้ กำลังจะมีกฎหมายสำคัญ ที่ได้รับการผลักดันโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ ETDA จาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลให้ปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวคือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ กฎหมาย DPS ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 21 สิงหาคม ที่จะถึงนี้

กฎหมาย DPS ฉบับนี้ กำหนดให้ ผู้ให้บริการหรือ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่ในการมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA ว่าเป็นใคร ให้บริการอะไรและกำลังจะให้บริการอะไร และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่เท่าไหร่ ซึ่งกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น ฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ไม่ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA

โดยข้อมูลที่ได้มาจะช่วยให้ภาครัฐสามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่องความโปร่งใสของแพลตฟอร์ดิจิทัลต่างๆ และยังได้มีการกำหนดทิศทาง วิธีการให้บริการและการดูแลควบคุมตัวเองที่เหมาะสมและมีมาตรฐานแล้ว มีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม การจัดการกับปัญหาการฉ้อโกงต่างๆ หรือ สแกมเมอร์ (Scammer) ที่สามารถระบุผู้กระทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น 

ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยส่งเสริมให้บริการแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย นอกจากนี้ เมื่อกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม ที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เกือบ 20 หน่วยงาน จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกันเชื่อมโยงข้อมูลและระบบในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้ดำเนินงานในการกำกับดูแล ไม่เกิดการทับซ้อนระหว่างกัน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

โดยผู้ที่จะได้ประโยชน์จากกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ ร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ที่จะได้รับความชัดเจนในด้านข้อมูลต่างๆที่จำเป็น เช่น เกณฑ์การจัดอันดับร้านค้ายอดนิยม และช่องทางติดต่อเมื่อเกิดปัญหา ขณะที่ผู้บริโภค ก็จะได้รับบริการที่ดีและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มไรเดอร์ที่ให้บริการขนส่งสินค้าหรือรับส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น ก็จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องค่าตอบแทน

สรุปแล้ว กฎหมาย DPS ถือเป็นจุดเริ่มต้นทสำคัญ ที่จะช่วยสร้าง สร้าง Ecosystem ของการทำธุรกรรมออนไลน์ปลอดภัย เป็นธรรม แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคมากขึ้น

ที่มา : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ร่วมแสดงความคิดเห็น