แพทย์ชี้ชัด ฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุเกิดมะเร็งปอด

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2566จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า และคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องนานนับเดือนแล้ว ทั้งนี้รองศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์และอาจารย์ประจำหน่วยวิชาระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤตและภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างแน่นอน ทั้งผลกระทบในระยะสั้น และผลกระทบในระยะยาว โดยผลกระทบระยะสั้นนั้น ในกรณีผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว หากส่วนใดของร่างกายที่สัมผัสฝุ่น จะเกิดอาการตามมาในเวลาไม่นาน เช่น แสบตา,แสบจมูก,ระคายคอ,น้ำมูกไหล,เลือดกำเดาไหล และคันตามผิวหนัง เป็นต้น แต่หากเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหืดหอบ,โรคถุงลม,โรคหัวใจ และโรคเส้นเลือดสอง จะอันตรายกว่า และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เพราะอาการอาจกำเริบหนักและถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งในช่วงนี้ที่เกิดสถานการณ์ปัญหามลพิษอากาศพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มขึ้นมาก


ขณะที่ผลกระทบในระยะยาวนั้น การสูดหายใจรับอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสะสมต่อเนื่องจะส่งผลทำให้การทำงานของปอดแย่ลง และหากสะสมต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบปีอาจเลวร้ายถึงขั้นทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ โดยที่ผ่านมาจะพบเห็นได้ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เป็นกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยๆ และไม่ได้สูบบุหรี่ รวมทั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อได้ว่าปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากมลพิษฝุ่นควัน ทั้งนี้นอกจากผลกระทบต่อระบบหายใจแล้ว สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือ ฝุ่น PM 2.5 ยังมีผลร้ายต่อหัวใจและสมองด้วย เพราะฝุ่น PM2.5 มีองค์ประกอบเป็นฝุ่นขนาดจิ๋วหรือที่เรียกว่าฝุ่นนาโน ที่สามารถทะลุจากหลอดลมและถุงลมปอด เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดและไปยังทุกส่วนของร่างกายได้ ซึ่งหากเข้าไปยังเส้นเลือดหัวใจ อาจทำให้เกิดการอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนเสียชีวิตได้ หรือหากเข้าไปที่เส้นเลือดสมอง อาจทำให้อุดตันเป็นอัมพาตหรือเส้นเลือดสมองแตก และถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน


สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการป้องกันเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5เป็นพิเศษนั้น นอกผู้ป่วยที่มีโรคประจำเรื้อรังแล้ว ได้แก่ เด็ก,ผู้สูงอายุ และคนตั้งครรภ์ โดยในกลุ่มเด็กนั้น มีความเสี่ยงมีผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากปอดยังไม่พัฒนาเต็มที่ หากสูดหายใจอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5ปนเปื้อนเข้าไปมากๆ จะส่งผลทำให้ปอดอักเสบและหยุดการพัฒนา ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงเนื่องจากการทำงานของปอดเสื่อมไปตามอายุ ประกอบกับมีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ,ไขมัน,ความดัน หรือเบาหวาน เป็นต้น ทำให้เสี่ยงที่อาการจะกำเริบรุนแรง ส่วนคนตั้งครรภ์นั้น พบว่าฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าไปได้ถึงรกในครรภ์ ทำให้รกมีเลือดไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ทำให้การเจริญเติบโตช้า รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะแท้งหรือคลอดอกมาเสียชีวิต รวมทั้งทารกที่คลอดออกมาจะไม่แข็งแรงตามปกติ ,น้ำหนักน้อย และอาจมีโรคประจำตัวไปตลอด


นอกจากนี้รองศาสตราจารย์นายแพทย์เฉลิม เปิดเผยว่า จากสถานการ์ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 และมลพิษอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทำให้ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยในส่วนของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั้น พบว่าทุกวันนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเข้าตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ เนื่องจากหอผู้ป่วยเต็มต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าในส่วนของข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบภาพรวมของทั้งจังหวัดเชียงใหม่เป็นเท่าใด ส่วนการป้องกันตัวเองของประชาชนนั้น แนะนำว่าให้หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ หากพบว่าค่าฝุ่น PM2.5 เกิน 15ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือดัชนีคุณภาพอากาศ เกิน 35 AQI ตามมาตรฐานสหรัฐอเมริกา กลุ่มเสี่ยงควรเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกอาคาร และปิดประตูหน้าต่างอยู่ในบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมใส่หน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ได้และต้องสวมอย่างถูกวิธีด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น