พยาธิหนอนหัวใจ ภัยร้ายสัตว์เลี้ยงที่มีสาเหตุมาจาก “ยุง”

พยาธิหนอนหัวใจ เป็นพยาธิชนิดหนึ่งที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dirofilaria immitis ซึ่งมีสุนัขเป็นโฮสต์แท้ โดยมียุงเป็นพาหะ โดยเมื่อยุงกัดสุนัขที่มีตัวอ่อนระยะที่ 1 ตัวอ่อนจะเข้าสู่ตัวยุงและเจริญเป็นระยะที่ 2 และ 3 ตัวอ่อนระยะที่  3 เป็นระยะติดโรค เมื่อยุงไปกัดสุนัขตัวถัดไป จะปล่อยตัวอ่อนระยะติดโรคเข้าสู่สุนัข ตัวอ่อนระยะที่ 3 จะเคลื่อนผ่านชั้นใต้ผิวหนัง และเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่ 4 โดยใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณ 45-60 วัน จากนั้นตัวอ่อนจะเคลื่อนเข้าสู่หลอดเลือดและเคลื่อนตามกระแสเลือด เข้าสู่หลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี่ที่ปอดและเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 6-7  เดือน พยาธิตัวเต็มวัย จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี

ลักษณะอาการเมื่อมีพยาธิ

ตัวอ่อนและตัวแก่ของพยาธิหนอนหัวใจที่อาศัยอยู่ที่หลอดเลือดที่ปอดจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้สุนัขมีภาวะปอดอักเสบ เกิดอาการไอ และหายใจลำบาก พยาธิหนอนหัวใจเมื่อมีจำนวนมาก อาจเคลื่อนจากหลอดเลือดพัลโมนารีที่ปอด มาอาศัยอยู่ในหัวใจทางด้านขวา หากมีปริมาณมากอาจเกิดการอุดตันในหลอดเลือด ขัดขวางการไหลเวียนเลือดและทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด

สุนัขจะแสดงอาการท้องมานหรือการสะสมของของเหลวในช่องท้อง บางตัวอาจมีอาการบวมตามขา และบางตัวอาจมีภาวะหายใจลำบากเนื่องจากการสะสมของของเหลวในช่องอก นอกจากนั้นภายในตัวพยาธิยังมีแบคทีเรียชื่อ โวบาเคีย (Wolbachia) โดยอยู่อาศัยแบบพึ่งพากัน

กล่าวคือ หากแบคทีเรียตาย พยาธิก็จะตาย และในทางกลับกัน ถ้าพยาธิตาย แบคทีเรียก็จะอยู่ไม่ได้ ในกรณีที่พยาธิตาย ชิ้นส่วนของพยาธิ และแบคทีเรีย โวบาเคีย ก็จะมีผลกระตุ้นกระบวนการอักเสบในร่างกายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นเศษของพยาธิที่ตายอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามมาได้



ในอีกกรณีของการวิเคราะห์โรคและอาการสามารถพบได้หลากหลายโดยแบ่งเป็น สี่ระยะด้วยกัน คือ

        ระดับที่ 1  สุนัขไม่ค่อยแสดงอาการมีอาการไอเป็นครั้งคราวแต่ผลตรวจเลือดและ x-ray พบว่าปกติ

        ระดับที่ 2  สุนัขจทีอาการอ่อนเพลียขณะวิ่งเล่นหฟรือออกกำลังกาย อาจมีอาการไอเป็นครั้งคราวผลการตรวจเลือดมักพบว่าโลหิตจางเล็กน้อย และยังพบการขยายขนาดของหัวใจเล็กน้อยจากากร x-ray

        ระดับที่ 3 ขั้นรุนแรง สุนัขมีอารการอ่อนแรงในแม้ในภาวะปกติ มีอาการไอตลอด หายใจลำบากมักพบภาวะโลหิตจางมากขึ้นผลการ x-ray พบว่ามีการขยายขนาดของหลอดเลือดที่ไปยังปอดและสภาพเนื้อปอดดูผิดปกติไป

        ระดับที่ 4 ขั้นรุนแรงมาก  สุนัขมีอัตราการเต้นและเสียงของหัวใจผิดปกติไป มีภาวะเม็ดเลือดแดงถูกทำลายภาวะตับและไตล้มเหลว หากพบภาวะขั้นนี้แล้วโอกาสที่จะหายกลับมาเป็นปกติค่อนข้างน้อย



การป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ

จะเห็นได้ว่าในกรณีที่สุนัขติดพยาธิหนอนหัวใจจะก่อให้เกิดอันตรายกับตัวสุนัข อาจทำให้เกิดอาการป่วยหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต ทางที่ดีที่สุดจึงควรทำการป้องกันการติดพยาธิในสุนัขทุกตัว เนื่องจากพยาธิหนอนหัวใจมียุงเป็นพาหะ การลดโอกาสในการพบเจอยุงจึงเป็นหนึ่งวิธีในการป้องกัน อาจใช้ยาไล่ยุง หรือ ลดการพาสุนัขออกนอกบ้านในช่วงโพล้เพล้ ซึ่งเป็นช่วงที่มียุงมาก ทำการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้าน หรืออาจมีการติดมุ้งลวดให้ที่กรงสุนัข

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าการกำจัดยุงให้หมดไปจากประเทศไทยนั้นทำได้ยาก เช่นเดียวกับการพยายามลดโอกาสการเจอยุง (ซึ่งไม่น่าจะทำได้)​ การป้องกันการติดพยาธิหนอนหัวใจ

โดยการใช้ยาที่มีผลในการฆ่าตัวอ่อน จึงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกว่า ปัจจุบันยาที่ใช้ป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ เป็นยาที่อยู่ในกลุ่ม macrocyclic lactone ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลายชนิดทั้งรูปแบบยากิน ยาหยดหลัง หรือยาฉีด ยาป้องกันในรูปแบบยากินและยาหยดหลัง โดยส่วนใหญ่ต้องให้ทุกเดือน เดือนละครั้ง  ส่วนรูปแบบยาฉีดจะสามารถออกฤทธิ์ได้ยาวนาน  12  เดือน โดยผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีการผสมตัวยาชนิดอื่นๆ ที่มีผลในการฆ่าปรสิตภายในหรือภายนอกชนิดอื่นร่วมด้วย

ในบางกรณีโรคนี้สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่การหยอดยา เซลาเมกติน ป้องกันเป็นประจำทุกเดือนตั้งเด็กไปจนตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่องละควรใช้ยาที่ได้รับการรับรองว่าสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในสัตว์อีกด้วย แต่หากสุนัขโตอายุมากกว่า 6 เดือนและไม่เคยมีการป้องกันมาก่อน อาจต้องเจาะเลือดตรวจว่าป่วยเป็นโรคนี้อยู่หรือไม่หากตรวจไม่พบก็สามารถเริ่มการป้องกันได้ทันที



ซึ่งจะมีหลายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละผลิตภัณฑ์ ยากำจัดเห็บหมัดบางชนิดไม่ได้มีฤทธิ์ครอบคลุมในการป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ ก่อนใช้จึงควรศึกษารายละเอียดของแต่ละผลิตภัณฑ์หรืออาจสอบถามจากสัตวแพทย์ เพื่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในการป้องกันแต่ละชนิดควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยาอย่างเคร่งครัด 

โดยเฉพาะวิธีการใช้และระยะเวลาที่ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ป้องกันได้ เพื่อลดโอกาสเกิดความล้มเหลวในการป้องกัน สามารถเริ่มโปรแกรมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ในกรณีที่สุนัขโตแล้วและยังไม่เคยป้องกันพยาธิหนอนหัวใจมาก่อน ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยก่อนว่าสุนัขไม่ได้มีการติดพยาธิหนอนหัวใจไปก่อนหน้าแล้ว จึงค่อยเริ่มโปรแกรมป้องกัน

การตรวจหาพยาธิหนอนหัวใจ

ในกรณีที่สุนัขมีอาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วและสงสัยว่ามีการติดพยาธิหนอนหัวใจ สามารถพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัยได้ โดยสัตวแพทย์จะใช้ชุดทดสอบสำเร็จรูปในการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิหนอนหัวใจในเลือดสุนัข ในกรณีที่ชุดทดสอบให้ผลบวกแสดงว่ามีแอนติเจนของพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียอยู่ในร่างกายสุนัข ในกรณีที่ให้ผลลบ อาจเกิดจากการไม่ติดพยาธิ หรือยังไม่มีพยาธิตัวเต็มวัยเพศเมียอยู่ในร่างกายสุนัข

ซึ่งอาจเกิดจากการที่พยาธิตัวอ่อนยังเจริญไม่เต็มที่ หรือมีแต่พยาธิหนอนหัวใจเพศผู้ในร่างกายสุนัขในขณะนั้นก็ได้ จึงควรมีการตรวจซ้ำอีกครั้งหลังจากการตรวจครั้งแรกประมาณ 6 เดือน นอกจากนั้นอาจทำการตรวจหาตัวอ่อนพยาธิในกระแสเลือด  

ในกรณีที่พบตัวอ่อนในกระแสเลือดควรทำการตรวจยืนยันแอนติเจนของพยาธิตัวแก่ในร่างกายสุนัขด้วยเสมอ เนื่องจากตัวอ่อนที่พบอาจเป็นของพยาธิชนิดอื่นก็เป็นได้ การมีตัวอ่อนของพยาธิหนอนหัวใจในกระแสเลือดบ่งชี้ถึงการเป็นรังโรค และโอกาสการแพร่พยาธิหนอนหัวใจ ไปยังสุนัขตัวอื่นๆ โดยผ่านทางยุงได้  สัตวแพทย์จึงมักให้ยากลุ่มป้องกันเพื่อกำจัดตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจด้วย

นอกจากการตรวจยืนยันการติดพยาธิหนอนหัวใจ สัตวแพทย์จะทำการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูรอยโรคและความรุนแรงของภาวะปอดอักเสบ ดูการเปลี่ยนแปลงของขนาดและรูปร่างหัวใจ โดยอาจพบลักษณะหัวใจด้านขวาโต ร่วมกับการขยายใหญ่ของหลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี

ในกรณีที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว  อาจพบภาวะท้องมานและการสะสมของของเหลวในช่องอกจากภาพถ่ายรังสี การตรวจด้วยวิธีคลื่นเสียงสะท้อน ความถี่สูง อาจพบพยาธิในหัวใจในกรณีที่มีการเคลื่อนของพยาธิเข้าสู่หัวใจแล้ว นอกจากนั้นอาจพบการขยายใหญ่ของห้องหัวใจด้านขวา และพบภาวะความดันเลือดในปอดสูงขึ้นได้

วิธีการรักษา

ปัจจุบันสามารถทำการรักษาพยาธิหนอนหัวใจได้โดยการใช้ยาฆ่าตัวเต็มวัยของพยาธิ Melasomine dihydrochloride โดยฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบั้นเอว ตัวยาจะค่อนข้างปวดสัตวแพทย์จึงอาจจ่ายยาช่วยลดอาการปวดให้ การฉีดยาจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มที่ 1 และฉีดเข็มที่  2 และ  3  ในวันที่  30  และ  31  ถัดจากเข็มแรก 

เนื่องจากยาจะทำให้พยาธิตัวเต็มวัยตาย ชิ้นส่วนหรือเศษของพยาธิที่ตาย อาจเกิดเป็นลิ่มเลือดอุดตันได้ เพื่อลดโอกาสการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน จึงควรจำกัดการออกกำลังกาย หรือพักสุนัขไว้ในกรง เป็นระยะเวลา ประมาณ 6 สัปดาห์ ภายหลังการฉีดยาฆ่าพยาธิหนอนหัวใจตัวเต็มวัย ภายหลังการฉีดยาหากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดที่ปอดขึ้น สุนัขอาจแสดงอาการหอบ หายใจลำบาก หากเกิดอาการดังกล่าวขึ้น ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ สัตวแพทย์จะทำการรักษาโดยการให้ออกซิเจน    และให้ยาลดการอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ในกรณีที่สุนัขสภาพไม่พร้อมที่จะทำการรักษาด้วยยาฆ่าตัวเต็มวัย

เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลวแล้ว สัตวแพทย์อาจเลือกวิธีรักษาแบบทางเลือกโดยการให้ยา  ivermectin ร่วมกับ doxycycline หรือการให้ยาหยดหลัง moxidectin ร่วมกับ doxycycline  และทำการตรวจหาแอนติเจนของพยาธิตัวเต็มวัยพยาธิหนอนหัวใจเป็นระยะๆ ในกรณีที่ทำการรักษาแบบทางเลือกจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดเช่นเดียวกับการรักษาโดยการฉีดยาฆ่าตัวเต็มวัย

ในกรณีที่มีปริมาณพยาธิตัวเต็มวัยค่อนข้างมากและเกิดการอุดตันภายในห้องหัวใจหรือหลอดเลือดดำใหญ่ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเพื่อคีบพยาธิตัวเต็มวัยบางส่วนออก เพื่อลดการอุดตัน และจึงทำการรักษาโดยการให้ยาฆ่าพยาธิตัวเต็มวัยต่อไป

จะเห็นได้ว่าหากสุนัขมีการติดพยาธิหนอนหัวใจ สุนัขจะแสดงอาการป่วยได้ค่อนข้างรุนแรงและบางตัวอาจถึงขั้นเสียชีวิต สุนัขทุกตัวควรได้รับการป้องกันการติดพยาธิหัวใจอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการลดโอกาสการเจ็บป่วยสำหรับตัวสุนัขที่ท่านเลี้ยงเองแล้ว ยังเป็นการช่วยสังคมลดจำนวนสุนัขที่เป็นแหล่งรังโรคของตัวอ่อนพยาธิหนอนหัวใจ ที่จะแพร่ไปยังสุนัขตัวอื่นๆ รวมถึงสัตว์สปีชีส์อื่น เช่น แมว ถึงแม้จะไม่ใช่โฮสต์แท้หรือสิ่งมีชีวิตที่เป็นที่อยู่อาศัยหลักของพยาธิหนอนหัวใจ แต่ก็มีโอกาสติดพยาธิหนอนหัวใจและเกิดอันตรายร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน เรื่องพยาธิหนอนหัวใจในแมวหมอจะขอมาเล่าให้ฟังในบทความฉบับถัดไปแล้วกันนะคะ

อย่าลืมป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ เพื่อสุนัขของท่านเองและสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ นะคะ

ที่มา:

รศ.สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์​ สุรเชษฐพงษ์ (อว. สพ. อายุรศาสตร์)
Assoc. Prof. Sirilak Surachetpong, DVM, MS, PhD, DTBVM, AiCVIM (Cardiology)
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Department of Veterinary Medicine, Faculty of Veterinary Medicine, Chulalongkorn University,โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

ร่วมแสดงความคิดเห็น