เชียงใหม่ได้รับวัคซีน LAAB ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด

จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับวัคซีน LAAB เป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ

วันนี้ (23 พ.ย. 65) ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคโควิด-19 และอัตราการฉีดวัคซีนฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานสรุปสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในห้วงวันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2565 ว่า จังหวัดเชียงใหม่ ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันทั้งสัปดาห์ 53 ราย มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงถึง 7 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น

สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็มที่ 3) สสจ.เชียงใหม่ รายงานว่า ปัจจุบัน ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีอัตราเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 เพียงร้อยละ 40.52 ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 แล้วเพียงร้อยละ 48.24 กลุ่มเด็กอายุ 5-17 ปี มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ร้อยละ 11.22 กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วร้อยละ 1.09 ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม. ของจังหวัดเชียงใหม่ เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 แล้วร้อยละ 69.88 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 7 ของประเทศ

สำหรับข้อมูลการจัดสรรวัคซีน Long Acting Antibody หรือ LAAB ซึ่งเป็นวัคซีนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปป้องกันโควิด-19 เพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน หรือประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 อาทิ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต หรือผู้ปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ซึ่งหากติดเชื้ออาจมีอาการป่วยรุนแรงหรือมีโอกาสเสียชีวิตสูง โดยเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน LAAB ไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิด-19ได้สูงทันที โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่ โดยโรงพยาบาลนครพิงค์ได้รับจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 4000 โดส ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในประชาชนกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ป่วยดังกล่าว อย่างไรก็ตามผู้ที่จะได้รับวัคซีน LAAB จะต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น

นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากข้อมูลผู้เสียชีวิตพบว่าเป็นประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นทั้งสิ้น ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันน้อยจำเป็นต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน พร้อมทั้งยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันโรคขั้นสูงสุด 2U ได้แก่ Universal Prevention ด้วยการล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด และ Universal Vaccination คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีความเสี่ยง ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อรับเข็มสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 4 เดือนขึ้นไป เพื่อป้องกันการเจ็บป่วนรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ

ร่วมแสดงความคิดเห็น