“ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี” อวดโฉมรับเดือนมีนาคม 2566

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยภาพ “ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดี” ช่วงหัวค่ำวันที่ 1 ถึง 3 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ใกล้กันที่สุดวันที่ 2 มีนาคม 2566 ห่างเพียง 0.6 องศา ปรากฏคู่กันสว่างเด่นบนฟ้าทางทิศตะวันตก มองเห็นด้วยตาเปล่าชัดเจน 

ดาวศุกร์เคียงดาวพฤหัสบดีในลักษณะนี้ เรียกว่าปรากฏการณ์ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” เกิดจากดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไปปรากฏใกล้กันบนท้องฟ้าที่ระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา (การวัดระยะเชิงมุมบนท้องฟ้า ชูนิ้วก้อยเหยียดแขนให้สุดขึ้นบนท้องฟ้า ระยะ 1 องศา จะห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย) เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยะวิถี ดังนั้น การที่ดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกันหรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ 

ร่วมแสดงความคิดเห็น