ชินคังเซ็นสายเหนือ – รถไฟฟ้าเชียงใหม่ ยังไปต่อ รอครม.ชุดหน้าอนุมัติ

ชินคังเซ็นสายเหนือ – รถไฟฟ้าเชียงใหม่ ยังไปต่อ รอครม.ชุดหน้าอนุมัติ

หลังจากที่หลายฝ่ายต่างรอคอยความคืบหน้าของ 2 เมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ของภาครัฐ ในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่ อย่าง โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และ โครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ สายสีแดง

สำหรับโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายเหนือของกระทรวงคมนาคม แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก มีระยะทาง 380 กม. วงเงินลงทุน 2.12 แสนล้านบาท และ ระยะที่ 2 เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ มีระยะทาง 288 กม. วงเงินลงทุน 2.32 แสนล้านบาท ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ล่าสุด นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้เปิดเผยว่า ผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉบับสมบูรณ์ ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา พบว่าโครงการ มีความคุ้มค่าทางการลงทุน โดยโครงการระยะที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – พิษณุโลก มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ร้อยละ 17.3 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 12 ตลอดจนมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ

โดยหลังจากที่ได้ผลการศึกษาแล้ว ทางกรมการขนส่งทางราง จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อผลักดันการดำเนินการของโครงการต่อ โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่หลังจากนี้ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ ถือเป็นโครงการสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศเป็นอย่างมาก

ขณะที่ โครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี ทางกระทรวงคมนาคมได้รายงานว่า ปัจจุบัน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังศึกษารูปแบบของโครงการเพื่อหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้คุ้มค่ากับการลงทุน และคาดว่า จะพิจารณารูปแบบการลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถใช้ระยะเวลาราว 1 ปีหรือภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566- มิถุนายน พ.ศ. 2567 ซึ่งหากได้ข้อสรุปผลแล้ว จะนำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567

โครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ สายสีแดง มีระยะทางทั้งหมด 15.8 กม. วงเงินลงทุน 25,736 ล้านบาท คาดว่าหากโครงการได้รับอนุมัติแล้ว จะเริ่มคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในปี พ.ศ. 2567 หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการ และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2568 และเปิดให้บริการแก่ประชาชนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2571

ชาวเชียงใหม่อดใจรออีกไม่ช้า ก็จะได้ตีตั๋วขึ้นทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงแล้ว

ที่มา :
https://www.thansettakij.com/business/561869
https://www.posttoday.com/business/financial/691660
https://www.infoquest.co.th/2023/282086

ร่วมแสดงความคิดเห็น