จับตาผลกระทบ หลังยักษ์ใหญ่อสังหาฯจีน ยื่นล้มละลาย

ถือเป็นข่าวที่สั่นสะเทือนวงการเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ระดับโลก เมื่อ เอเวอร์แกรนด์ บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐฯ แล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งการล้มละลายของยักษ์ใหญ่แห่งวงการบ้านและคอนโดแดนมังกร จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วโลกรายงานว่า เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ได้ยื่นขอการคุ้มครองกรณีล้มละลายในสหรัฐอเมริกา ตามกฎหมายสหรัฐฯ หมวดที่ 15 ต่อศาลนครนิวยอร์ก  หลังจากประสบกับปัญหาผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวประสบปัญหาอย่างหนักในการจ่ายหนี้เงินกู้ของตัวเอง ที่พุ่งขึ้นราว 11.69 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจีน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สร้างความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ที่จะส่งผลต่อการเงินจีนในขณะนี้ โดยภายหลังจากที่สื่อทั่วโลกรายงานข่าว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียพากันปรับตัวลดลง อาทิดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่น ปรับตัวลดลง 60.79 จุด ดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกง ลดลง 205.73 จุด รวมทั้งดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ปรับลดลง5.62 จุด

ทางด้านสำนักข่าว BBC ของอังกฤษ รายงานถึงผลกระทบต่อเนื่องทางการเงิน ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น

  1. ลูกค้าของบริษัทจำนวนมาก จะไม่ได้อสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน ที่ซื้อไว้ และอาจจะต้องสูญเสียค่ามัดจำที่จ่ายไปก่อนหน้านั้น หากเอเวอร์แกรนด์ล้มละลาย
  2. บริษัทคู่ค้าหลายแห่ง ที่ได้ร่วมทำธุรกิจกับทางเอเวอร์แกรน์ อาทิ บริษัทออกแบบ บริษัทก่อสร้าง บริษัทขายวัสดุต่างๆ มีความเสี่ยงจะล้มละลายตาม
  3. ผลกระทบต่อระบบการเงินจีน ซึ่งหากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารและผู้กู้รายอื่นๆ จะถูกกดดันให้ปล่อยสินเชื่อน้อยลง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสินเชื่อตึงตัว โดยหากบริษัทเอกชนรายต่างๆ ไม่สามารถกู้ยืมเงินทุนได้ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเงินจีน และทำให้ความน่าลงทุนในสินทรัพย์จีนลดลง

ข่าวการล้มละลายของ เอเวอร์แกรนด์ ถือเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงเศรษฐกิจโลก ที่หลายฝ่ายจับตามอง เพราะอาจจะซ้ำเติมสถานการณ์ทางการเงินจีนที่กำลังซบเซาจนกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงิน

โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจที่สำคัญรวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยวในปัจจุบันยังพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นจำนวนมากหลังเปิดประเทศ เพราะฉะนั้นแล้ว ภาครัฐ เอกชน รวมไปถึงผู้ประกอบการรายย่อย ที่กำลังทำธุรกิจกับคู่ค้าในจีน ควรเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมเตรียมแผนรับมือหากปัญหาเริ่มบานปลายกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่

ที่มา BBC Thai , ไทยรัฐ , Infoquest

ร่วมแสดงความคิดเห็น