(มีคลิป) เชียงราย ถกวาระด่วน แก้ปัญหาลูกแรงงานข้ามชาติ

จ.เชียงราย จัดประชุมถกวาระด่วน แก้ปัญหาลูกแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิในการศึกษาและการคุ้มครองเด็ก

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 ที่โรงแรมทีค การ์เด้น รีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงราย ได้มีการประชุมเรื่องสิทธิเด็กเคลื่อนย้ายจากบริเวณชายแดนตะวันตก การเข้าถึงสิทธิในการศึกษาและการคุ้มครองเด็ก โดยโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ (SCPPIII) ผู้เข้าราว 100 คน ประกอบด้วยตัวแทนเด็กกลุ่มเปราะบาง พระสงฆ์ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ผู้แทนภาคประชาสังคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล คือ นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ และน.ส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สส.เชียงราย และผู้แทนภาคส่วนราชการ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต สว.จ.เชียงราย และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่ากิจกรรมการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับฟังสถานการณ์และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงกรอบการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งเชิงมาตรฐานระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือกฎหมายของไทย การประชุมครั้งนี้ จะจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายและระดับพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา และร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป โดยปัจจุบัน มีสถานการณ์ชายแดนไทยเมียนมา ทำให้เกิดการอพยพของประชาชนจำนวนมาก กลุ่มที่ต้องมีการคุ้มครองคือเด็กและเยาวชน

น.ส.ศิริพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าว ตากและเชียงใหม่ เป็นพื้นที่มีประชากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เมียนมาจำนวนมาก โดยในพื้นที่ 5 อำเภอตะวันตกของ จ.ตาก การจัดการศึกษาแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ผู้ลี้ภัยที่อยู่มานาน แรงงานข้ามชาติ ผู้มาใหม่ และผู้หนีภัยจากการสู้รบ หลังจากการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในประเทศเมียนมา ทำให้มีความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และท่าทีการทำงานระหว่างกัน จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานกับเมียนมา แต่ในประเทศไทย ยังมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กต่างชาติในประเทศไทย การศึกษาในโรงเรียนไทย การศึกษานอกระบบ และการศึกษาเพื่อการฝึกอาชีพ

น.ส.ศิริพร กล่าวว่า การทำวิจัย “Bridge” และ “Stepping Stone” ศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงการศึกษา อุปสรรคการเข้าถึงการศึกษา พบว่าสถานการณ์ที่กระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก สถานการณ์ชายแดน การเมืองและอนาคตทางการศึกษาของเด็ก มีเด็กจำนวนมากขึ้น แต่โรงเรียนรัฐมีข้อจำกัดรับเด็กมากขึ้น การมีเอกสารของเด็กและผู้ปกครอง แม้ว่าคู่มือและแนวปฏิบัติสำหรับการจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย แต่การปฏิบัติยังพบข้อจำกัด

นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์การเรียนจดทะเบียนตาม พรบ.การศึกษา ตอนเราทำแรกๆมีเด็กกว่า 60 คนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานภาคเกษตร ปัจจุบันมี 208 คนการขยับเพิ่มทุกปี แต่บางคนอายุ 15 ปีเพิ่งเรียนประถม 1 แต่ละปีมีเด็กย้ายออกประมาณ 40 คน เขาต้องย้ายตามพ่อแม่ไป แต่เด็กที่เข้ามาเพิ่มมากกว่า ถ้าเด็กหรือผู้ปกครองมาแจ้งว่าจะย้ายไปที่ไหนเราก็สามารถประสานไปที่ปลายทางให้ได้ แม้โรงเรียนของรัฐไม่ได้ปิดกั้นการศึกษา แต่เมื่อผู้ปกครองไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เขาก็ไม่รู้จะไปประสานงานอย่างไร ส่งผลให้เด็กเข้าไม่ถึงการศึกษา

“การเคลื่อนย้ายของเด็กทำอย่างไรให้เขาปลอดภัย ไม่ถูกเรียกผลประโยชน์ระหว่างทาง เคยมีเด็กนักเรียนของเราไปเยี่ยมแม่นอกพื้นที่แล้วถูกตำรวจจับ เด็กอายุ 15-16 ปีแต่เรียนระดับประถม เขาไม่เชื่อ เขาให้เด็กโทรเรียผู้ปกครอง แต่ถ้าผู้ปกครองมารับก็โดนจับแน่นอนเพราะเข้าเมืองผิดกฏหมาย พื้นที่ชายแดนน่าจะมีมาตการอะไรที่ให้เด็กเข้ามาเรียนอย่างถูกต้อง ทำให้เด็กที่เคลื่อนย้ายได้รับการศึกษา” นายวีระ กล่าว

น.ส.อรอุมา เยอส่อ ผู้แทนมูลนิธิ พชภ.กล่าวว่า เด็กข้ามชาติในด้านจังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่หนีสถานการณ์ความไม่สงบจากเพื่อนบ้านและการติดตามผู้ปกครองเข้ามาหางานทำ การพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลของเด็กเหล่านี้ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าดำเนินการได้รวดเร็วแค่ไหน ส่วนสิทธิในการศึกษานั้นแม้มีปัญหาอุปสรรคเรื่องภาษาแต่บางสถานศึกษาที่เข้าใจก็สามารถจัดการเรียนการสอนได้

นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้แทนมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวถึงการจัดการปัญหาเด็กนักเรียนกลุ่ม G ว่า ตัวG คือเด็กที่มีตัวตนอยู่ในสถานศึกษา เช่น ลูกหลานกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้แจ้งเกิด บางส่วนข้ามแดนมา หรือบางคนทีพ่อแม่ไทยแต่ไม่ได้แจ้งเกิด แต่เราเขียนว่าการศึกษาเพื่อทุกคนและประเทศไทยขยายการศึกษาให้ทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติสัญชาติ

พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ(วงศ์ใส) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า สามเณรในประเทศไทยไม่เคยลด แต่สำนักพุทธนับเฉพาะที่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ปัญหาของพระเณรไม่ต่างจากฆราวาส เพราะมีที่หนีภัยสงคราม เข้ามาเพื่อศึกษา การบวชเป็นหัวใจสำคัญเพราะวัดเป็นสถานที่ปลอดภัย วัดไม่สามารถปฏิเสธให้เขาบวชได้ แต่เมื่อบวชแล้วเขาผิดกฎหมายทันที

“เมื่อก่อนเรามีความหวังลูกเณรอยู่ในระบบการศึกษา แต่สามเณรที่ยังไม่จบ และจะเรียนต่อ ม.1 ไม่สามารถเรียนในโรงเรียน สพฐ.ได้เพราะไปเรียนรวมกับฆราวาสยุ่งยาก ทำให้ไม่รู้เอาสามเณรไว้ไหน เรามีสามเณรกว่า 80 รูป ก็เลยต้องเอาไปฝากไว้ที่ศูนย์การศึกษาต่างๆ รู้สึกน้อยใจทำไมคณะสงฆ์ถึงไม่สามารถจัดการศึกษาของพระเณรเหล่านี้ได้ เราจะตั้งศูนย์การเรียนสำหรับสามเณรเฉพาะ

นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง กล่าวว่า เด็ก 126 คนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎรไม่ได้ถูกดำเนินคดี แต่ถูกส่งกลับประเทศต้นทาง แต่มีการดำเนินคดีกับตนและผู้ที่หวังดีที่ต้องการให้เด็กได้รับการศึกษาอีก 4 คน โดยเด็ก 126 คน แบ่ง 3 กลุ่มคือ เด็กโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 เดิม เด็กย้ายไป และเด็กเข้าเรียนใหม่ แต่ทั้งหมดไม่ได้มาครั้งเดียว 126 คน แต่ทยอยกันมา เมื่อเกิดเรื่องเราได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายของคณะนิธิศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี ปัจจุบันมีนักเรียนกลับเข้ามาเพื่อศึกษากว่า 20 คน บางส่วนกลับเข้ามาทำงาน ถามเด็กที่เหลือว่าอยากกลับมาเรียนอีกมั้ย หลายคนบอกว่าไม่อยากกลับมาแล้วเพราะกลัวถูกจับ บางคนเราพาไปสมัครเรียนที่โรงเรียนฝั่งไทย แต่ทางโรงเรียนไม่รับเพราะมีนโยบายสั่งมาว่าไม่ให้รับเด็กกลุ่มนี้

ในช่วงบ่ายเวทีเสวนาได้สังเคราะห์ข้อเสนอสถานการณ์ร่วมกันเสนอแนะนโยบายและระดับพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหา ดำเนินรายการโดย ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง รองคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารณ์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องการบังคับใช้กฏหมายเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษา ตรวจคนเข้าเมืองและกระทรวงพัฒนาสังคมฯไม่มีการทำงานบูรณาการกัน สิ่งที่สำคัญคือแต่ละหน่วยงานต้องดูแลภารกิจของตัวเอง เช่น กรณีเด็ก 126 คน กระทรวงศึกษาต้องดูเรื่องการศึกษาให้กับเด็ก หากทำหน้าที่ตัวเองอาจทำให้คลี่คลายปัญหาได้ หรือกรณีสามเณรไร้สัญชาติ กลุ่มที่เดินข้ามมาถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายตั้งต้นคือ พรบ.คนเข้าเมือง

นายพิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กล่าวว่าในฐานะผู้ที่ปฎิบัติงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิ มีกฎหมายคนเข้าเมืองเป็นเครื่องมือโดยเฉพาะมาตรา 17 ในการอนุญาตให้เขามีสิทธิอาศัยเพื่อให้คนที่มีปัญหาสถานะบุคคลได้แสดงตัวตัวเพื่อเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล เราได้ดำเนินการร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มาโดยตลอด หากเขาเข้ามาถูกกฎหมายตั้งแต่แรกนั้นไม่มีปัญหา โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้รหัส G กับเด็กแต่ทุกวันนี้ไม่สามารถให้เลขตามหลักทะเบียนราษฎรได้หมดทำให้มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิต่างๆ แต่หากเข้าสู่ระบบทะเบียนราษฎรแล้วก็สามารถพัฒนาต่อไปได้

นายนท เหมินทร์ ผู้แทน สมช.กล่าวว่า ปัญหาเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติหรือเด็ก G มาจากปัญหาภาพใหญ่ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ พ่อแม่เข้ามานานและมีลูกหลาน หรือเด็กที่เกิดในค่ายผู้หนีภัย ปัญหาเพิ่มมากขึ้น เพราะมีหลบหนีเข้ามามากขึ้น ทำให้เด็กรหัส G ราว 1.2-1.3 แสนคน ซึ่งแก้ได้ยากขึ้น เราทำอย่างไรจะแก้ปัญหานี้ได้ แต่ถ้ามองในเรื่องการแก้สถานะบุคคลอย่างเดียว แต่อาจเจอปัญหาอื่นตามมา เช่น แรงงานที่เข้ามาด้วยวิธีรัฐต่อรัฐ หรือเอ็มโอยู ไม่สามารถนำผู้ติดตามมาได้เพื่อไม่ให้เพิ่มปัญหา แต่ถ้าเป็นแรงงานนำเข้าตามมติคณะรัฐมนตรีสามารถนำผู้ติดตามมาได้ ทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระดับนโยบาย เราจะแก้ปัญหาอย่างไรสำหรับเด็กที่ติดตามพ่อแม่เข้ามา เรื่องเหล่านี้ที่แก้ช้าเพราะเราหาทางออกยังไม่ได้ และการแก้ปัญหาหนึ่งอาจกระทบอื่น สมช.พยายามเลือกวิธีการที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เรื่องลูกแรงงานข้ามชาติจะเป็นวาระเร่งด่วน ว่าจะออกมาตรการอะไรรองรับ โดย สมช. ได้ตั้งอนุ กก. ขึ้นมาพิจารณาโดยเฉพาะ ส่วนกรณีเรื่องของสามเณรที่ไม่สามารถเรียนชั้น ม.1 ในระบบของ สพฐ.ได้นั้น ปัจจุบันกระทรวงศึกษาได้หารือกับสำนักพุทธศาสนา โดยมีแนวคิดช่วยแก้ปัญหาโดยการตั้งศูนย์การเรียนขึ้นมาในวัด สามเณรเหล่านั้นก็ยังเป็นสามเณรต่อไป ทุกอย่างมีพัฒนาการในเชิงบวก แต่ทั้งหมดนโยบายรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญสุดเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

นางปรีดา คงแป้น กสม.กล่าวว่า ขณะนี้กรณีเด็ก 126 คนอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของ กสม. โดยปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิบุคลมีการร้องเรียนมากที่สุดคือนับพันเรื่อง จากประสบการณ์คือนโยบาย กฎหมายและความจริงในพื้นที่แตกต่างกัน เราตั้งคำถามอยู่ตลอดว่าเด็ก G จำนวน 8 หมื่นคน เราทอดทิ้งและละเมิดสิทธิเขาหรือไม่ เห็นด้วยที่รัฐควรมีนโยบายพุ่งเป้าไปที่เด็กตัว G เลย รวมถึงข้อเสนอที่ว่าเราควรมีเขตการศึกษาพิเศษของเด็กชายแดนหรือไม่

นายปารมี ไวจงเจริญ สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่าจริงๆกฎหมายครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ทำไมท่อถึงตัน โดยเท่าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาพบว่าติดขัดเรื่องคนมากกว่า ยิ่งเกี่ยวพันกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงาน ยิ่งทำให้การประสานงานยากมาก

“เรื่องเด็กที่ถูกส่งกลับ 126 คนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ไข เพราะเป็นเรื่องท้าทาย อย่าให้ถึงขนาดที่ภาคประชาชนต้องทอดผ้าป่ามาช่วยเด็กเลย การที่บอกว่าหากเราพูดถึงเด็ก G มากๆจะทำให้มีเด็กเข้ามาอีกมาก อยากบอกว่ามันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เราต้องยอมรับว่ามีงานที่คนไทยไม่ทำหลายอาชีพแล้ว แรงงานของเพื่อนบ้านมาช่วยเรามาก การที่เราส่งเสริมลูกหลานเขาด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ดี”ปารมี กล่าว

น.ส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สส.เชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวว่ามีเด็กที่รอคอยการแก้ปัญหาอยู่จำนวนมาก เมื่อเป้าหมายประโยชน์สูงสุดอยู่ที่เด็ก หากทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกันก็จะแก้ปัญหาได้ การจัดเวทีครั้งนี้สำคัญมากสำหรับเด็ก 8 หมื่นคนและมากกว่านั้ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้โควตาดูแล เชื่อว่าจะทำงานเป็นประโยชน์ได้

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ความจริงที่โหดร้ายจากการไปลงพื้นที่คือการเห็นเด็กๆ ขาดแคลน ปัญหาสำคัญคือโครงสร้าง ไม่ว่าเราจะจับต้องตรงไหน แต่ละกระทรวงต่างมีระเบียบของตัวเองอยู่เสมอ

ดร.ศิระดา เขมานิฎฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การให้การศึกษาเป็นความมั่นคงอีกแบบหนึ่ง การให้การศึกษากับเด็กที่ไม่ใช่คนไทย อาจเป็นความมั่นคงสำหรับประเทศไทย หลายหน่วยงานความมั่นคงเริ่มเห็นมุมนี้ เพื่อให้เด็กเป็นอนาคตของประเทศ และความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รัฐบาลปัจจุบันเน้นเศรษฐกิจมาก ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรเด็กเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับความมั่นคงด้านสาธารณสุขก็จะลดภัยคุกคามด้านนี้

“เรื่องที่ต้องแก้ไขแข่งกับเวลาคือการให้เด็กหัว G ได้มีเลข 13 หลักหรือสถานะทางทะเบียน เพราะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนได้ และการให้สิทธิเรื่องสุขภาพ” ดร.ศิระดา กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น