พ่อเมืองเชียงใหม่ ชวนชาวอำเภอสารภี “ไม่เผา เราทำปุ๋ย”

วันที่ 23 มกราคม 2567 เวลา 08.30 น.นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอสารภี “ไม่เผา เราทำปุ๋ย” ปฏิบัติการ เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา ตามแนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยนายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ นายวรุตม์ วิศิษฏ์ศิลป์ นายอำเภอสารภี นางมัฑนา ธรรมใจ เกษตรอำเภอสารภี นายวรเดช เต็มดี นายกเทศมนตรีฯ นำภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ สำนักงานเทศบาลตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศให้วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2567 เป็นห้วงเวลาของการควบคุมการเผา หรือควบคุมการใช้ไฟในพื้นที่โล่งทุกชนิด แต่หากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องขออนุญาตบริหารจัดการเชื้อเพลิงผ่านแอพพลิเคชั่น FireD ซึ่งจะมีการพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความจำเป็นต้องเผาจริงหรือไม่ โดยศูนย์บัญชาการอำเภอจะเป็นผู้อนุญาตและดูแลควบคุมการใช้ไฟ

สำหรับนโยบาย “เดินเข้าหาไฟ ลดการเผา” คือ การเปลี่ยนพื้นที่เผาไหม้ให้ปลอดการเผา โดยใช้วิธีการอื่นเข้ามาบริหารจัดการเชื้อเพลิงแทน อาทิ การไถกลบตอซัง หรือการเปลี่ยนเศษซากวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล ตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม โดยใช้การไถกลบเพื่อลด PM 2.5 และเพื่ออากาศที่สะอาดบริสุทธิ์ขณะเดียวกันในเขตพื้นที่ของชุมชนเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กำชับให้เทศบาลทุกแห่งได้จัดหารถเก็บขยะให้เพียงพอและทั่วถึงต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน และให้จัดหารถเพิ่มเติมสำหรับเก็บเศษซากวัสดุอื่นๆ นอกเหนือจากขยะ อาทิ กิ่งไม้ ใบไม้ ยางรถยนต์ และอื่น ๆ เป็นการดึงเชื้อเพลิงออกจากชุมชน เพื่อลดสาเหตุการเผาในเขตเมือง

ส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ มีการบริหารจัดการเพื่อลดการเผากิ่งไม้ ใบไม้ และขยะมูลฝอย โดยเฉพาะเทศบาลตำบลสารภี เองนั้น มีถนนหมายเลข 106 (เชียงใหม่-ลำพูน) เป็นถนนที่มีความงดงามของต้นยางนาทั้งสองข้างทาง โดยมีจำนวนมากถึง 312 ต้น ในแต่ละปีจะมีใบ ดอก ลูกยางนาร่วงหล่นบนถนนในปริมาณมาก เทศบาลฯ จึงได้เกิดแนวคิดในการส่งเสริมการจัดทำปุ๋ยหมักจากใบยางนาแบบไม่พลิกกอง เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมักให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีผลให้สามารถลดการเผาใบยางนาที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ หรือปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ ได้อย่างเป็นรูปธรรมการผลิตปุ๋ยหมักจากใบยางนา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน ตัวแทนเกษตรกรของทุกหมู่บ้านในพื้นที่เทศบาลตำบลสารภี คณะทำงานและผู้มีเกียรติ รวมทั้งสิ้น 150 คน โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง มาเป็นวิทยากร นี้ก็เป็นหนึ่งกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่อำเภอสารภี ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญและต้องเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง และต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ และจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง จึงจะช่วยแก้ปัญหาการเผาขยะในชุมชน และการรักษาอากาศเพื่อทุกคนได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น