เชียงใหม่ ปรับมาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบสุขภาพของ ปชช.จากปัญหาฝุ่น

เชียงใหม่ ปรับมาตรการเร่งด่วน ลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 สั่งการทุกหน่วยงานของ สำนักงาน สสจ.เชียงใหม่ เตรียมพร้อมดูแล ป้องกัน ผลกระทบสุขภาพประชาชน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นพ.นิมิตร อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมตอบโต้สถาน การณ์ (PHEOC) กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ครั้งที่ 2/2567 เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทาง มาตรการการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพและปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน ณ ห้องประชุม IT สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่

นพ.นิมิตร อินปั๋นแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยปอดอุดกั้นเรื้อรัง ( COPD with AE ) เปรียบเทียบระหว่าง ปี 2566-2567 พบผู้ป่วย (ข้อมูลตั้งแต่ 1 – 31 มกราคม 2567) จำนวน 884 ครั้ง ลดลง 117 ครั้ง คิดเป็นลดลง ร้อยละ 11.69 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัด สรุปผลการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพประชาชนจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เชิงรุก สถานบริการสาธารณสุขทุกอำเภอ (รพ.+รพ.สต.) ออกดำเนินการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง โดยใช้กลไกหมอครอบครัว จำนวน 1,827 ราย ให้สถานบริการทุกแห่งจัดทำทะเบียนข้อมูลผู้ป่วยในชุมชน โดยเฉพาะ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรุนแรง (COPD severe) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรุนแรงมาก (very severe) การดำเนินการคลินิกมลพิษและคลินิกมลพิษออนไลน์ คลินิกมลพิษ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ รพ.นครพิงค์ สันทราย แม่วาง สันป่าตอง โดยมีผู้ใช้บริการ จำนวน 17 ราย คลินิกมลพิษออนไลน์ จำนวน 13 แห่ง

สำหรับการประชุมตอบโต้สถานการณ์ (PHEOC) กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ครั้งที่ 2/2567 ได้มีข้อสั่งการให้โรงพยาบาลและสถานบริการ ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ทุกแห่ง เตรียมความพร้อมเพื่อดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ได้แก่ 1. เฝ้าระวัง คาดการณ์ และแจ้งเตือนสถานการณ์ พร้อมสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจ ในการดูแลป้องกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง 2. เตรียมความพร้อมระบบบริการสาธารณสุข/ระบบส่งต่อ 3. เตรียมความพร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยา หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย COPD 4. ให้ทุกสถานบริการจัดทำห้องลดฝุ่น ตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ 5. ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงาน เอกชน ร้านค้า ร้านอาหาร เข้าร่วมดำเนินการจัดทำห้องลดฝุ่น และ 6. สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดูแลประชาชนจากปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่

นพ.นิมิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อควรปฏิบัติตนเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีดังนี้ ควรติดตามข่าวสารหรือใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศอยู่เสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นละอองหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน และสวมแว่นตาเพื่อป้องกันการระคายเคืองตา อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ควรออกกำลังกายและทำงานหนักในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะร่างกายจะสูดดมฝุ่นละอองเข้าไปในปริมาณมาก ปิดประตูและหน้าต่างลดปริมาณฝุ่นละอองเข้ามาในบ้าน ในช่วงที่มีค่าเกินมาตรฐาน ที่สำคัญขอให้ดูแลกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยง่ายอย่างใกล้ชิด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคระบบทางเดินหายใจและภูมิแพ้ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ร่วมแสดงความคิดเห็น