เลขายงยุทธ สส.เชียงราย-หลายภาคส่วนแก้ PM 2.5

เลขายงยุทธจับมือ สส.เชียงราย ร่วมหลายภาคส่วนดันแก้ปัญหา PM2.5 เป็นวาระใหญ่ ที่รัฐต้องแก้อย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่แนวกันไฟบ้านห้วยขม ม.1 ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ และนายอิทธิพล ศรีสองสม เลขานุการของ ดร.ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง“จะทำอย่างไรเมื่อเราไม่ได้เผาแต่ค่า PM2.5 สูงจนเกินขีดอันตราย” ในหัวข้อสภาสัมพันธ์ร่วมใจป้องกันและบริหารจัดการไฟป่า เพื่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชนที่ยั่งยืน โดยเป็นการเสวนาในพื้นที่ปฏิบัติงานพื้นที่จริงครั้งแรกของจังหวัดเชียงราย

ในเวทีเสวนาครั้งนี้นอกจากนายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงรายเขต 1 และนายอิทธิพล ศรีสองสม เลขานุการของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วมีผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จริงอาทิ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย นายสมเกียรติ ปูกา อดีต ทสจ.เชียงราย นายปรัตถกร การเร็ว กำนันตำบลแม่ยาว พ.ต.ท.เกียงไกร พุทธวงค์ สวป.สภ.แม่ยาว ร.ต.ท. ปริณ วรโชคคุณากรณ์ จากกองร้อย ตชด.ที่327 นายสุภาพ ไชยชนะ ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษา

ตลอดถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่จากตำรวจตระเวณชายแดน ตำรวจท้องที่ อาสาสมัครไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ทุกส่วนล้วนแล้วแต่เป็นผู้ปฏิบัติงานหลัก ในการป้องกันไฟป่าที่เผชิญเหตุในพื้นที่จริงทั้งหมด

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ กล่าวว่าในวันนี้ที่พวกเราต้องระดมกำลังกันมาหาทางออกของฝุ่น PM2.5 นี้เป็นเพราะพี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะคนเชียงรายที่ต้องทนทุกข์กับปัญหานี้และมีความเสี่ยงที่จะต้องเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงโรคร้ายแรงเช่น “มะเร็งปอด” ที่คร่าชีวิต โดยที่พี่น้องชาวบ้านไม่รู้ตัว พวกเราจึงต้องมาร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ด้านนายอิทธิพล ศรีสองสม กล่าวต่อว่า ปัญหาที่สำคัญที่สุดในวันนี้ คือหมอกควันที่เราไม่ได้เผา
สังเกตุจากจุดความร้อนที่ขึ้นแสดงในแผนที่ดาวเทียม ไม่มีจุดความร้อนขึ้นบริเวณจังหวัดเชียงรายเลย แต่เราต้องแบกรับสภาวะนี้ โดยต้นกำเนิดมาจากเพื่อนบ้านเรา ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลต้องหาทางแก้ไข และไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขเฉพาะปลายเหตุ อย่างเช่นงดรับซื้อข้าวโพด งดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมันเป็นปลายเหตุ

แต่ควรจะแก้ไขที่ต้นเหตุคือการเจรจาและขอให้เพื่อนบ้านบังคับใช้กฏหมาย ตลอดจนร่วมมือในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างอาชีพที่หลากหลายมากกว่าการทำไร่เลื่อยลอย อันเป็นปัจจัยต้นๆ
ที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้จนเรื้อรัง อีกทั้งยังปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพเป็นวงกว้างระดับประเทศ

จากนั้นในวงเสวนามีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายจากหลายภาคส่วน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง และมีการตอบโต้กันไปมาเพื่อหาทางออกเสนอแนวทางไปยังรัฐบาลผ่าน สส.ในพื้นที่ร่วมกัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น