คณะแพทย์ มช.เปิดวอร์ดปลอดฝุ่นลดผลกระทบผู้ป่วยจากฝุ่นพิษ

คณะแพทย์ มช.เปิดวอร์ดปลอดฝุ่นลดผลกระทบผู้ป่วยจากฝุ่นพิษ ชาวเชียงใหม่กังวลดมฝุ่นนาน แห่ตรวจดวงตา-ภูมิแพ้ หลังใช้ชีวิตกลางฝุ่นควันนานเกือบสองเดือน

ช่วงเวลาเกือบสองเดือนเต็มที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นควันจากไฟป่า ทำให้ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ โดยในวันนี้ประชาชนจำนวนมากพากันไปตรวจสุขภาพสุขภาพและดวงตา ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มาให้บริการตรวจฟรีภายในงานนิทรรศการบริการวิชาการสู่ชุมชน เนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี คณะแพทยศาสตร์ มช. ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ชื่องาน “รับมือ รู้ทัน ป้องกัน PM2.5” เพื่อตระหนักถึงมลภาวะทางอากาศ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต มีนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน

โดยทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ให้บริการตรวจตรวจสุขภาพหลายอย่างที่มีผลกระทบจากพีเอ็ม 2.5 อาทิ ตรวจตาแห้ง ตรวจคัดกรองโรคต้อหินและโรคจอตาบริการรักษาตาแห้งด้วย IPL และ lid spa , ตรวจอัลตราซาวนด์คลื่นความถี่สูง 4 มิติ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ,ตรวจวัด

องค์ประกอบของร่างกายความดันโลหิตและแปลผลองค์ประกอบของร่างกาย ,ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ,ตรวจความแน่นกระชับของหน้ากากป้องกันฝุ่น (Fit test) รวมทั้งประเมิน คัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง , ตรวจสมรรถภาพปอด , ตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการให้ความรู้เรื่อง PM2.5 มีผลกระทบต่อร่างกาย เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5

วันเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แถลงเปิดตัวหอผู้ป่วยปลอดฝุ่น ลดผลกระทบต่อสุขภาพจาก PM 2.5 โดยนำร่องหอผู้ป่วยชั้น 5 อาคารสุจิณโน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เป็นหอผู้ป่วยปลอดฝุ่นลดผลกระทบผู้ป่วย

ศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ เปิดเผยว่า อาคารสุจิณฺโณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีหอพักผู้ป่วยแบบปรับอากาศและไม่ปรับอากาศ ซึ่งหอพักผู้ป่วยแบบไม่ปรับอากาศ ปัจจุบันมีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ดังนั้นหากฝุ่น PM2.5 เข้ามายังอาคารหอผู้ป่วยสุจิณฺโณ จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางเดินหายใจของผู้ป่วยได้ จึงได้มีแนวคิดในการป้องกันปัญหา PM 2.5 ของอาคารสุจิณฺโณ โดยการสร้างความดันภายในอาคารให้สูงกว่าภายนอกบริเวณอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเล็ดลอดเข้ามาในอาคารสุจิณฺโณ ลดพื้นที่ช่องเปิดให้เหลือน้อยที่สุด และทำการเติมอากาศสะอาดเข้ามาภายในบริเวณโถงทางเดิน ซึ่งอากาศที่เติมเข้ามา จะถูกกรองด้วยระบบกรองอากาศ โดยใช้ Filter 3 ชั้น ได้แก่ แผ่นกรองอากาศชนิดชั้นต้น (Pre – Filter), แผ่นกรองอากาศชั้นกลาง (Secondary -filter) และแผ่นกรองอากาศขั้นสูง (HEPA -filter) ที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นได้ถึงระดับ PM2.5

นอกจากนี้ พื้นที่ช่องเปิดและหน้าต่างสำหรับระบายอากาศที่เหลือ ได้ทำการติดตั้งม่านกันฝุ่น PM2.5 โดยใช้ม่านกันฝุ่นชนิดนาโนไฟเบอร์ในห้องผู้ป่วยที่ไม่มีการปรับอากาศ ทั้งนี้ในอาคารสุจิณฺโณ ได้มีการติดตั้งเซนเซอร์ วัดปริมาณฝุ่น PM2.5 เพื่อติดตามปริมาณฝุ่น ภายในอาคาร และสามารถรายงานผลได้ทุกช่วงเวลา แบบ Real time โดยจะมีการขยายพื้นที่หอผู้ป่วยปลอดฝุ่นให้มากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ สถานการณ์วิกฤตหมอกควันมลพิษทางอากาศ ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-15 มี.ค. 2567) ด้วยผลกระทบจาก PM2.5 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 30,339 ราย มากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงเดียวกันของปีก่อน 1 เท่าตัว (สถิติวันที่ 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2566 จำนวนผู้ป่วย 12,671 คน) ส่วนใหญ่พบมีอาการของโรคภูมิแพ้กำเริบ เยื่อบุจมูกอักเสบ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ โรคหืด เลือดกำเดาไหล โรคถุงลมโป่งพอง ตามลำดับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น