ตำนานที่ยังมีลมหายใจ “ฝาลายอำบ้านร้อยจันทร์” หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่

ร้อยเรื่องเมืองล้านนา ตอนที่ 11 เครื่องจักสาน 2 : ฝาลายอำบ้านร้อยจันทร์

“…เมื่อก่อนมี 50 – 60 หลังเลยที่ทำ ตอนนี้วางมือกันหมดแล้ว เหลือแค่นี้แหละ
บ้านเราไม่มีคนสอน ก็คงจะหมด คงไม่มีใครทำต่อ
เด็กที่เกิดมารุ่นใหม่ ต่อจากนี้ไปก็จะไม่เห็นแล้ว… ”
— พ่อมา นามธุวงค์ –

เมืองล้านนา คือ ดินแดนแห่งวัฒนธรรม มีขนบธรรมเนียม ประเพณีที่งดงาม มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ ที่หาดู หาชมได้แค่เพียงที่ดินแดนแห่งนี้เท่านั้น รวมไปถึงด้านสถาปัตยกรรมล้านนา เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญา ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวล้านนาในอดีต ที่มีวิธีการสร้างที่เป็นแบบเฉพาะ มีการใช้วัตถุดิบที่สอดคล้องกับความเป็นอยู่ของบ้านเมือง หนึ่งในวัตถุดิบที่นิยมใช้ในการสร้างบ้านเรือนในอดีตของชาวล้านนานั้น คือ ไม้ไผ่ ที่นำมาสานเป็นฝาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างฝาลายอำ ฝาลายสอง และฝาลายสาม ในอดีตเป็นที่นิยม แต่ในปัจจุบันกำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา และสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ชุมชนบ้านร้อยจันทร์ ต.หนองควาย อ.หางดง จ. เชียงใหม่ เป็นเส้นทางวัฒนธรรมหนึ่งเดียว ที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาการสานฝาลายต่าง ๆ นี้ไว้อยู่ จากผู้ร่วมสืบสานเป็นหลายสิบหลังคาเรือน แต่ในปัจจุบันเส้นทางวัฒนธรรมแห่งนี้ เหลือผู้สืบทอดอยู่เพียงหลังเดียว องค์ความรู้ดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น หากในวันนี้ยังไร้ผู้สืบทอด เส้นทางบ้านร้อยจันทร์แห่งนี้ คงปิดตำนานภูมิปัญญาการจักสานฝาลายอำ สถาปัตยกรรมล้านนาแบบดั้งเดิมไปตลอดกาล

สถาปัตยกรรมล้านนาในอดีต ภูมิปัญญาแห่งเมืองล้านนา

ในยุคสมัยที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยี ชาวบ้านใช้ค้อนแค่เพียงอย่างเดียวในการสร้างเรือนบ้านอยู่อาศัย ใช้ความคิด ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติ และใช้กำลังแรงมือของตน ในการสร้างสิ่งหนึ่งขึ้น จนในวันนี้สิ่งนั้นได้กลายเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาล้ำค่าของชาวล้านนา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิน ว่องวิกย์การ อาจารย์ และหัวหน้าศูนย์ออกแบบ และให้คำปรึกษางานสถาปัตยกรรม (ADC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้บอกเล่าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมล้านนาในอดีตว่า “…สมัยก่อนเราอยู่ในสังคมเกษตรกรรม เป็นเกษตรกรทำนา ทำไร่ ทำสวน คิดว่าเขามีความเป็นช่างอยู่ และก็ถ้าว่างจากการทำนามีการจักสานทำงานฝีมือ และก็รวมทั้งปลูกเรือนด้วย มีค้อนอันเดียวก็สามารถสร้างเรือนได้แล้ว โดยมีวัสดุหลักก็คือไม้ คุณค่าของไม้ คือ ราคาไม่เคยตก เพราะฉะนั้นเรือนไม้ของเขากลายเป็นมรดก เขาอยู่กับไม้ไผ่เป็นหลัก ฝาบ้าน และพื้น เขาเอาไม้ไผ่คลี่ออกแล้วสับเป็นฝ้า คลี่ออกแล้วปูเป็นพื้น หรือ คลี่ออกแล้วปูเป็นผนัง เอาไม้ไผ่มาฝานบาง ๆ เหมือนตอกแล้วค่อย ๆ สานก็เป็นลายต่างๆ ก็มีลายสองลาย สามลาย อำอะไรพวกนี้ ลายพวกนี้ คือ เอามาทำฝา ฝาแบบนี้จะไม่เห็นในการทำบ้านที่อยู่อาศัยจริง ณ ปัจจุบัน…”

เรือนไทยของภาคเหนือในอดีตนั้นจะเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง จะแตกต่างจากภาคอื่น ๆ ด้วยสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมที่ต่างกัน ทำให้ลักษณะเฉพาะทางรูปทรงหลังคา และสัดส่วนของเรือนเตี้ยคลุ่มมากกว่า จะมีการเจาะช่องหน้าต่างแคบ ๆ เล็ก ๆ สำหรับกันลมหนาว เพราะภาคเหนือจะมีอากาศหนาวที่หนาวกว่าที่อื่น ๆ เรือนทุกรูปแบบจะมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ และมีคุณค่าทางศิลปะด้านสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก

เรือนล้านนารูปแบบต่าง ๆ จะสร้างขึ้นตามลักษณะการใช้พื้นที่ภายในเรือน และฐานะของเจ้าของเรือน ซึ่งเรือนในยุคแรก ๆ ของล้านนามักสร้างมาจากไม้ไผ่ ยุคหลังจากนั้นถึงจะค่อยพัฒนาการสร้างเรือน จากไม้ไผ่ เปลี่ยนมาใช้ไม้จริง แล้วนำรูปแบบของเรือนตะวันตกมาผสมผสาน

(พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.)

สถาปัตยกรรมการสร้างเรือนโบราณของคนล้านนา มีหลากหลายแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “เรือนชั่วคราว หรือเรือนเครื่องผูก” สำหรับการใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว ก่อนที่จะสร้างเรือนถาวรขึ้นภายหลัง ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “ตูบ” หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้ไผ่เป็นส่วนใหญ่ ใช้เสาไม้ไผ่ พื้นทำด้วยไม้สาน หรือฟากสับ ฝาผนังทำด้วยไม้ไผ่ หรือแผงไม้ซางสานเป็นลายต่าง ๆ เช่น ลายอำ โครงหลังคาก็ทำด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าวัตถุดิบอย่างไม้ไผ่เป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับชาวล้านนาในอดีต

(พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.)
(พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.)

“เรือนถาวร หรือเรือนไม้จริง” เป็นเรือนที่พัฒนาขึ้นมาจากเรือนแบบชั่วคราว โดยยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ด้านหน้ามีกันสาด โครงสร้างหลังคามีทั้งไม้จริง มุงด้วยกระเบื้องดินเผา และโครงไม้ไผ่ ฝาผนังยังคงใช้การสานจากไม้ไผ่อยู่ ใช้ไม้สานเป็นแบบลำแพน ลายอำ ลายตาล ไม้ไผ่ขัดแตะ ไม้ซางทุบเรียบ หรือใช้ไม้จริงตีนอน ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น และมีราคาถูก

 “เรือนกาแล”  ที่เจ้าพญา และคหบดีนิยมสร้างนั้น มีรูปแบบเป็นเรือนจั่วแฝดขนาดใหญ่ โดยเพิ่มกาแลติดไว้บนยอดจั่วหลังคา เชื่อว่า รูปแบบของเรือนกาแลนี้มีพัฒนาการมาจากเรือนของกลุ่มชาวลัวะที่ใช้ไม้ไผ่วางไขว้กัน ลักษณะของเรือนกาแล ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา เนื่องจากเป็นเรือนที่นิยมสร้างกันมากในกลุ่มคนล้านนา “เรือนร้านค้า” เริ่มมีการปรับเปลี่ยน รับอิทธิพลจากศิลปะตะวันตก “เรือนแบบตะวันตก” เรือนที่ได้รับรูปแบบโครงสร้าง และการตกแต่งมาจากประเทศในแถบตะวันตก “เรือนขนมปังขิง” และเรือนในรูปแบบต่าง ๆ อีกมากมาย

(พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.)

งานหัตถกรรมพื้นบ้าน จักสานฝาลายอำ

สถาปัตยกรรมล้านนาในอดีต จะเห็นได้ว่า ฝาลายอำ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างบ้านของคนล้านนา ฝาลายอำ คือ ฝาเรือนที่สานด้วยไม้ไผ่ โดยใช้ส่วนผิวไม้ไผ่เหียะ หรือไม้ไผ่เฮียะมาสาน จะมีเทคนิคการสานเฉพาะ คือ ผ่าเป็นซี่ ๆ แบะให้แบนแล้วนำมาขัดไขว้กันเป็นแผ่นใหญ่ แล้วจะมีช่องว่างระหว่างไม้ไผ่ที่ขัดกัน ช่วยให้ระบายอากาศได้ดี อีกทั้งยังมีน้ำหนักที่เบา จึงนิยมใช้ทำเป็นฝาเรือนในอดีต

งานจักสานฝาลายอำนั้น ไม่ได้เป็นงานที่ยาก หรือมีขั้นตอนที่ซับซ้อน แต่เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิ และความอดทน ใช้เวลาที่ค่อนข้างนานในการจักสาน กว่าจะได้ออกมาเป็นชิ้นงานที่สมบูรณ์ จึงทำให้ในปัจจุบัน ไม่ค่อยมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาสนใจ หรือศึกษาในวิธีการทำภูมิปัญญาเหล่านี้ เหลือเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่ยังคงทำอยู่

โดยขั้นตอนการทำฝาลายนั้น จะเริ่มจากการนำไม้ไผ่เฮียะ มาเลาะเอาตาไม้ออกให้หมด ผ่าครึ่งแล้วสับให้แตก จากนั้นแยกส่วนผิวกับเนื้อออกจากกัน นำไปตัดให้ได้ขนาดที่ต้องการ จะต้องจัดให้ซี่ที่ผ่าออกมาแต่ละซี่มีขนาดที่เท่ากัน และต้องผ่าจากโคนของไม้ไผ่ ขั้นตอนการผ่าตอกมีขนาดตอกที่เท่ากัน เมื่อนำมาสานเป็นฝาจะได้ผลงานที่ดี มีคุณภาพ นำไม้ไผ่ที่ได้มาเหลาให้เรียบร้อย และนำไปสานจนออกมาเป็นฝาลายต่าง ๆ ตามทักษะของสล่า ที่จะทำตามแบบแผนดั้งเดิม หรือสร้างสรรค์ นำแบบแผนมาดัดแปลง เพื่อให้เกิดลายใหม่ ๆ ตามที่ต้องการ

ปัจจุบันมีการดัดแปลงนำมาใช้กับงานเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ฝาลายอำแบบเดิมกลับไม่ได้รับความนิยมในการสร้างผนังเรือน เนื่องจากความเชื่อในเรื่องของความหมาย ของคำว่า “อำ” ที่มีความหมายว่า กั้น ทำให้กีดกั้น การทำมาหากิน และกั้นสิ่งมงคลเข้าตัว อีกทั้งไม่เหมาะกับการใช้งานในระยะยาว จึงไม่นิยมสานฝาลายอำอีกต่อไป

“…เอาไปขายที่เขาทำรีสอร์ท เอาที่เราทำไปใช้นี่มีความอดทน 10 ปี ก็ยังอยู่ได้ เราไม่ได้ขายลายอำแล้ว มันไม่มีคนซื้อ ตอนนี้ส่วนมากจะเป็นลายสอง ลายอำหายไปละ เด็กรุ่นใหม่ เขาไม่ทำกันแล้ว มีแค่นี้แหละ เด็กหนุ่มเขาไม่มาทำกันหรอก มันสานยาก คนที่นี่ไม่มีใครสาน บ้านอื่นเขาไม่ทำ เขาว่ารายได้มันน้อย ก็เคยทำแล้วไม่พอกิน…” — พ่อมา นามธุวงค์ –

มรดกล้านนาอันล้ำค่า ที่ใกล้จะสูญหาย การสานฝาที่ไร้ผู้สืบทอด

ถึงแม้ในทุกวันนี้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนไป การสานฝาลายอำไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างบ้านเรือนของคนในยุคปัจจุบันอีกต่อไปแล้ว แต่หากการสานฝาไม่ได้รับการสานต่อ ลูกหลานชาวล้านนาก็คงจะไม่ได้เห็นภูมิปัญญาด้านการจักสานฝาลายต่าง ๆ แบบนี้อีกต่อไป เฉกเช่นเดียวกับฝาลายอำที่เราไม่มีวันได้เห็นอีกแล้ว ความสมัยใหม่ที่ต้องนำมาปรับร่วม แต่ก็ต้องไม่ละทิ้งความดั้งเดิมที่อยู่คู่ล้านนาเรามาอย่างยาวนาน

“…ณ ตอนนี้มันถูกพัฒนา ก็จะมีโรงงานทำฝาไม้ไผ่อัด เอาไม้ไผ่มาอัดเป็นแผ่นแบบไม้อัดเอามาปูเป็นพื้นได้คงทนถาวร อันนี้ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง คนที่ผลิตต้องพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ แต่อยู่บนคุณค่าของวัสดุเดิม และต่อยอดมัน…” — ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิน ว่องวิกย์การ —

พ่อมา เป็นสล่าจักสานแห่งบ้านร้อยจันทร์ หนึ่งเดียวที่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ สำหรับใครสนใจที่จะเรียนรู้วิธีการจักสานฝาลายอำ ไม่ว่าจะด้วยต้องการสืบสานความดั้งเดิมนี้ให้คงอยู่ หรืออยากนำไปประยุกต์ให้เป็นความร่วมสมัยมากขึ้น ก็สามารถเข้าไปเรียนรู้วิธีการทำได้จากพ่อมา ที่บ้านร้อยจันทร์ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หรือใครอยากจะเห็น อยากจะสัมผัสกับสถาปัตยกรรม การสร้างบ้านเรือนในอดีตของชาวล้านนา ในรูปแบบต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปได้ที่พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.

(พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนามช.)

“…จุดประสงค์ของการเก็บรวบรวม เราต้องการที่จะเก็บบ้านให้เป็นตัวอย่าง และก็เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเยาวชน ผู้สนใจทั่วไป พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนาเป็นแหล่งรวบรวมเรือนที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์ในภาคเหนือ ก็จะมีเรือนในทุกยุคทุกสมัย เรือนที่เราเก็บมีแบบหลังเดียวในโลก การเก็บไว้ไม่ได้หมายความว่าแค่เก็บ แต่จะต้องบำรุงต้องดูแลรักษาให้มีอายุนานมากที่สุด…” คุณฐาปนีย์ เครือระยา นักจัดการงานทั่วไป ฝ่ายส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และสร้างสรรค์ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีจะก้าวกระโดด พัฒนาไปไกลเป็นอย่างมาก และวิถีชีวิตของผู้คนก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนา สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้สถาปัตยกรรมการสร้างบ้านของคนล้านนาก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย มีการออกแบบ มีการใช้วัตถุดิบที่ตอบโจทย์กับความต้องการของคนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น สิ่งใหม่ ๆ ล้วนมีความแข็งแรง ทนทาน และมีการเลือกใช้เทคโนโลยี มากกว่ากำลังจากมือของคน ถึงแม้หลาย ๆ อย่างจะเปลี่ยนไป แต่คำว่า ภูมิปัญญา นั้นมีค่า ถ้าเราไม่รักษาตอนนี้ ต่อไปในอนาคตก็จะไม่มีให้ลูกหลานได้เห็น ได้เรียนรู้ เราต่างอยู่กับปัจจุบัน คิดถึงอนาคต แต่เราอย่าหลงลืมรากเหง้าในอดีต ว่าเราเป็นมาอย่างไร ร่วมส่งต่อภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้ ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น สานต่อให้ความภาคภูมิใจนี้ยังคงอยู่ อย่าให้เส้นทางวัฒนธรรมจักสานบ้านร้อยจันทร์นั้นเหลือไว้แค่ชื่อให้คนรุ่นหลัง

ไม่มีแล้ว ร้านค้าแถวนี้ก็ไม่มีขายแล้ว ก็คงจะหมดละ ไม่มีใครต่อ
อยู่ไปเรื่อย ๆ เอาจนไม่มีแรงมาทำ ก็เลิกไป ถ้ามีแรงอยู่ ก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ
— พ่อมา นามธุวงค์ –

ร่วมแสดงความคิดเห็น