พิธีถวายเทวดาเหยียบมอม สร้างขึ้นทดแทนของเดิม ในวัดพระธาตุแช่แห้ง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เดินทางปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบพิธีถวายเทวดาเหยียบมอม สร้างขึ้นเพื่อทดแทนของเดิม ในวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่สูญหายไปกว่า 60 ปี

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีถวายทานเทวดาเหยียบมอม สร้างขึ้นทดแทนของเดิมของวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่สูญหายไปกว่า 60 ปี

พระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ เทวดาเหยียบมอม ไว้ว่าเทวดาเหยียบมอมนั้นจะทรงเครื่อง มอมมีลักษณะคล้ายสิงห์ แต่มอมเมืองน่านเป็นมอมชั้นสูง มีลักษณะศีรษะจะเหมือนพญานาคประจำแม่น้ำน่าน หูจะเหมือนหนู มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกและตั้งอยู่ที่จังหวัดน่านเพียงหนึ่งเดียว ขาทั้งสี่ คีบขาด้านหลัง จะสามารถลงน้ำได้เป็นครีบคู่และอยู่บนบกก็ได้ โดยเทวดาที่เหยียบมอมนั้น เป็นเทวาประจำเมืองถือฉัตรประจำเมือง หรือภาษาลานนาเรียกเกิ้ง เทวดาถือฉัตรสันนิษฐานว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงที่จะสามารถสร้างองค์ลักษณะนี้ได้ เพราะฉัตรมี 5 ชั้นเหมือนฉัตรของวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ด้านบนยอดพระธาตุดอกจำปาด้านบนบรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุที่ยกขึ้นสูง ต่อจากพิธีนี้แล้ว นาคจะใส่สร้อยสังวานถือว่าเป็นพญามอมที่อยู่ประจำวัดพระธาตุแช่แห้ง ทั้งนี้จะได้มีการจารึกและเขียนเป็นประวัติศาสตร์ไว้ต่อจากนี้ไป คู่กับมอมอีกคู่หนึ่งที่สร้างไว้เรียบร้อยแล้ว ไม้ที่นำมาจำรัสสร้างเป็นไม้ตายชานแบบโบราณที่หมดอายุไข และปรากฏอยู่ในวัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ทั้งนี้ได้มีการกระทำประกอบพิธีบวงสรวงพลีกรรมขอรุกเทวดาประจำต้นไม้ทั้งหลาย เพื่อนำมาสร้างโดยใช้ไม้เพียง 2 ท่อน ประกอบเป็นมอมหนึ่งท่อนและเทวดาอีกหนึ่งท่อนต่อกันได้ เชื่อได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างยิ่ง โชคดีที่มีภาพเก่าปรากฏให้เห็น วัดจึงดำเนินการจัดสร้างจนสำเร็จเรียบร้อยทุกประการ

ตัวมอมนั้นเป็นสัตว์ในจินตนาการ ที่มีลักษณะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันตามแต่ทักษะ ประสบการณ์ และจินตนาการของช่างที่ต้องการจะสื่อสะท้อนให้เห็นถึงคติ ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ลักษณะทั่วไปของตัวมอมในศิลปกรรมล้านนา มักอยู่ในท่าทางเคลื่อนไหวต่างกัน มีทั้งตั้งสง่าดั่งราชสีห์ หมอบกระโจน วิ่งวนเป็นวงกลม หยอกเล่นเป็นคู่ หรือเหาะเหิน นอกจากนี้ ยังพบประติมา กรรมตัวมอม นิยมประดับอยู่ตามวัด ทั้งแบบประติมากรรมลอยตัว นูนสูง และนูนต่ำ มีการปรากฏให้เห็นในรูปของส่วนประกอบในลวดลายประดับ รูปแบบศิลปกรรมบางแห่งปรากฏรูปเทวดายืนบนหลังมอม หรือยืนเอาเท้าข้างหนึ่งเหยียบลงบนศีรษะ หรือหลังของตัวมอม ซึ่งอาจจะหมายถึงเทวดา “ปัชชุนนะ” ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อในสมัยก่อน เมื่อในหมู่บ้านเกิดฝนแล้ง ชาวบ้านจะนำเอาตัวมอมที่แกะจากไม้ทาสีมารวมกัน แล้วแห่ไปรอบหมู่บ้าน โดยเชื่อว่าตัวมอมจะบันดาลให้ฝนตกได้ ประติมากรรมรูปตัวมอม เป็นพุทธศิลป์ที่มีเอกลักษณ์บอกเล่าถึงความเคารพศรัทธา คติ ความเชื่อ ที่บรรพบุรุษชาวล้านนามีต่อพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรูปตัวมอมโบราณเกือบสูญหายหมดสิ้นแล้ว เนื่องจากการบูรณะมักมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบลักษณะของตัวประติมากรรม ประกอบกับการถูกทำลายโดยธรรมชาติและมนุษย์ ส่งผลให้อนาคตอาจไม่เหลือรูปแบบ ลักษณะดั้งเดิมของประติมากรรมตัวมอม ปรากฏให้คนรุ่นหลังได้เห็น

ร่วมแสดงความคิดเห็น