ข่าวปลอม! รับประทานอาหารกระป๋องอันตราย

ข่าวปลอม!!!รับประทานอาหารกระป๋องอันตราย

วันที่ 11 ก.ค. 65 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่องรับประทานอาหารกระป๋องอันตราย ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่มีการแชร์ข้อมูลโดยระบุว่า การรับประทานอาหารกระป๋องเป็นอันตรายต่อร่างการ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การรับประทานอาหารกระป๋องไม่เป็นอันตราย หากเลือกอาหารกระป๋องที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่สภาพภาชนะสมบูรณ์ ไม่มีสนิม ฝาปิดสนิท ไม่บุบหรือรั่วและยังไม่หมดอายุ ซึ่งอาหารกระป๋อง คือ อาหารสำเร็จรูปที่บรรจุอยู่ในภาชนะปิดสนิทป้องกันการสัมผัสกับอากาศภายนอก และผ่านกรรมวิธีให้ความร้อนเพื่อทำลายหรือยับยั้งการขยายพันธุ์เชื้อจุลินทรีย์ อีกทั้งยังสามารถเก็บอาหารกระป๋องไว้ในอุณภูมิห้องได้ แต่ไม่ควรโดนแสงแดดหรือความชื้น ด้วยวิธีการผลิตและกระบวนการที่กล่าวไว้ข้างต้นทำให้สามารถเก็บรักษาอาหารกระป๋องได้นานกว่าอาหารสด
อย่างไรก็ตาม อาหารกระป๋องก็ คือ อาหารสำเร็จรูปชนิดหนึ่งที่มักจะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ คุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าอาหารปรุงสด จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไปหรือไม่รับประทานเป็นประจำ และควรพิจารณาคุณค่าทางโภชนาการก่อนเลือกซื้อเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมต่อวัน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 02 5907000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การรับประทานอาหารกระป๋องไม่เป็นอันตราย หากเลือกอาหารกระป๋องที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งเลือกซื้ออาหารกระป๋องที่สภาพภาชนะสมบูรณ์ ไม่มีสนิม ฝาปิดสนิท ไม่บุบหรือรั่วและยังไม่หมดอายุ

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น