นายกฯ สั่งทบทวนแก้กฎหมายอาวุธปืน ยาเสพติด

วันนี้ (12 ตุลาคม 2565) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีวการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน ร่วมการแถลงข่าว


 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือในมาตรการสำคัญ เพื่อให้เกิดการดำเนินการเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด โดยเรื่องเกี่ยวกับอาวุธปืน จะกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต และการพกพาทั้งหมด ในส่วนของผู้ยื่นคำขออนุญาตนั้นจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน มีการตรวจรับรองทางจิต ไม่วิกลจริตฟั่นเฟือน มีการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ได้มีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติทุกรอบปฏิบัติที่เหมาะสม และได้มีการหารือในเรื่องของการเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนเมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อน และการซื้อขายออนไลน์อย่างจริงจัง และจำเป็นต้องทบทวนกฎหมายบางฉบับ กฎกระทรวงบางเรื่องที่จำเป็นให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องอาวุธปืนมีรายละเอียดมาก โดยได้มอบหมายแนวทางการดำเนินการให้คณะทำงานต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าวันนี้ได้ทำอย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องของการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมี การเร่งติดตามสืบสวนขยายผลทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน การบูรณาการนำผู้เสพเข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูล ทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประเด็นปริมาณการครอบครองเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟู เรื่องนี้ต้องไปทบทวนและพิจารณา โดยในที่ประชุมได้มีการพูดถึงปริมาณ 5 เม็ด หรือ 15 เม็ด ถ้าจำเป็น ต้องมีการปรับแก้กฎหมายเหล่านี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำหรับเจ้าหน้าที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการลงโทษโดยเด็ดขาดในทุกกรณีโดยทันที ขณะที่ในส่วนของมาตรการการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่ติดยาเสพติด ต้องเร่งค้นหา คัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่สถานฟื้นฟูภาคีเครือข่าย เร่งจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล และทำการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน วันนี้ต้องหาให้ได้ว่าในพื้นที่ ท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน มีผู้ที่ติดยาเสพติดมากน้อยเท่าไร จะต้องไปคัดกรองเพื่อนำเขามาเข้าสู่กระบวนการให้ได้ ซึ่งในส่วนของชุมชน เป็นส่วนสำคัญที่ต้องให้ความร่วมมือกับทางราชการ ภาครัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีพฤติกรรมรุนแรง หรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็ต้องมีข้อเสนอหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อติดตามดูแลคนเหล่านี้ด้วย


 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ เรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต วันนี้ต้องให้ความสำคัญในเรื่องของระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน สถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบการต่าง ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้มีพฤติกรรมร้ายแรง ต้องหารือร่วมกัน ในส่วนของการบำบัดฟื้นฟู ต้องดำเนินการโดยทันที ทั้งกลุ่มงานจิตเวชและหน่วยป้องกันยาเสพติดทุกอำเภอ มีการจัดตั้งหน่วยอำนวยการจิตเวชฉุกเฉินทุกอำเภอ และระบบดูแลจิตเวชเบื้องต้นทุกโรงพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โดยใช้วิธีการชุมชนบำบัด มีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการรักษาจิตเวชทางไกล ดูแลต่อเนื่องในชุมชน
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า รัฐบาลได้ให้ความเข้มงวดกับเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาซ้อนปัญหา ทั้งในเรื่องของการใช้อาวุธปืน ในเรื่องของการก่อเหตุรุนแรง ทั้งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ติดยา หรือไม่ติดยาก็ตาม เป็นเรื่องที่รัฐบาลห่วงใยและยืนยันพยายามจะทำให้ดีที่สุด อะไรที่ทำได้ก็จะทำทันที ทุกคนต้องช่วยกัน วันนี้เรามีการแจ้งข่าวในช่องทางพิเศษอยู่แล้ว ก็ขอให้แจ้งเข้ามาในช่องทาง แล้วจะดำเนินงานในทันที ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างที่สุด อย่างยิ่งยวด มีการคุยกันเรื่อง demand และ supply และการแก้ปัญหาผู้เสพรายใหม่ การดูแลจะทำอย่างไร ทั้งหมดเป็นระบบในการป้องกัน ป้องปราม ปราบปราม บำบัด รักษา ต้องทำอย่างครบถ้วน ขอให้สื่อมวลชนทำความเข้าใจ รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นใครในการรับข้อมูล ขอให้แจ้งเข้ามาเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาได้.

ร่วมแสดงความคิดเห็น