เทศบาลนครเชียงใหม่ควบคุมไข้เลือดออกได้เกือบ 90 % ปลอดยุง

เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2566 ทางนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดไข้เลือดออก และเตรียมความพร้อมหากมีการประกาศเขตโรคระบาดไข้เลือดออก ตามมาตร 9 ตามพระราชบัญญัญโรคติดต่อ 2558

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2566 อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเตรียมใช้กฎหมายประกาศพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ 30 อำเภอใน 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่(อำเภอเมืองเชียงใหม่) แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และ กรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน ถือว่าเข้าเกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดโรคไข้เลือดออก และเน้นย้ำให้พื้นที่ดังกล่าวเร่งรัดการควบคุมโรคในห้วงเดือนสิงหาคม 2566 ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ได้ติดตามให้หน่วยงานระดับอำเภอ รายงานสถานการณ์ และแผนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคระดับอำเภอ หากมัการระบาดไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ให้เตรียมพร้อมดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC)

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลจากการติดตามจากการรายงานสถานการณ์ พบว่า อำเภอเมือง 78 หมู่บ้าน มีพื้นที่สีแดง 34 หมู่บ้าน คิดเป็น 45 % ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบรายงานผู้ป่วยจำนวน 4,392 ราย พื้นที่ได้พบการระบาดมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ.เมืองเชียงใหม่ อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.แม่ริม และ อ.สันทราย ส่วนเทศบาลนครเชียงใหม่สามารถดำเนินการตามมาตรการเกิน 100 % ส่งผลให้พื้นที่ระบาดได้รับการควบคุม จากทั้งหมด 101 ชุมชน มีพื้นที่สีแดงเพียง 11.8 % แต่ยังคงเน้นย้ำไปยังพื้นที่เสี่ยงปฏิบัติตามแผนการควบคุมโรคไข้เลือดออกจังหวัดเชียงใหม่อย่างเคร่งครัด ทั้งการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวแก่ และการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามระยะเวลาและความเสี่ยงของพื้นที่ และขอบคุณหน่วยงานที่ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด จึงไม่จำเป็นต้องประกาศเขตโรคระบาดไข้เลือดออก

ในการนี้ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือในการเข้าไปควบคุมโรค โดยขอให้เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดำเนินการฯ ในพื้นที่สาธารณะ และขอความร่วมมือประชาชน ในการใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เพื่อตัดวงจรยุงลาย หากการฉีดพ่นน้ำยาป้องกันยุงล่าช้าอาจจะส่งผลให้กลับมาแพร่ระบาด กรณีที่มีผู้ป่วยในพื้นที่ขอให้มีการประสานในการรับส่งผู้ป่วย ในพื้นที่รับผิดชอบแต่ละแห่งให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อการบริการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีอย่างไรก็ตาม ยังคงขอให้คณะกรรมการฯ ทุกส่วน ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น